Showing posts with label โลกร้อน. Show all posts
Showing posts with label โลกร้อน. Show all posts

Saturday 13 November 2021

ปัญหาโลกแตก Plastic หรือ Paper

Plastic หรือ Paper กับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ?

ขยะพลาสติกล้นโลกยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราได้เห็นทั้งโครงการที่จะยกเลิก ลด และ แทนที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วย bio-degradable ต่าง ๆ น่าเสียดายที่ โควิด-19 ทำให้หลาย ๆ โครงการงดแจกถุงพลาสติกต้องถูกเลื่อนออกไป ด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาวะอนามัย แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังเห็นการพยายามลดการใช้พลาสติก เช่น การที่ร้านอาหารดังหลาย ๆ ร้านเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษ หลอดกระดาษ รวมถึง Bio-plastic แทนถุงพลาสติก หลอดพลาสติก ผ่านบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปสำรวจว่าจริง ๆ แล้วการใช้วัสดุทดแทนพลาสติกเหล่านี้ ดีต่อโลกกว่า จริงหรือไม่?

Plastic or Paper ขยะพลาสติกล้นโลกยังคงเป็นปัญหาสำคัญ

เพื่อที่จะเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของวัสดุต่าง ๆ ให้ครบรอบด้าน เราจำเป็นที่จะต้อง วิเคราะห์วงจรชีวิต (A Life Cycle Analysis) เพื่อที่จะเข้าใจปริมาณพลังงาน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงการทำลาย ผลกระทบในที่นี้ยังรวมถึงผลที่เกิดจากการแปรสภาพวัสถุต้นทาง การขนส่ง แจกจ่ายไปยังร้านค้า การความสามารถที่จะถูกใช้ซ้ำ และ รีไซเคิลอีกด้วย


บรรจุภัณฑ์แบบไหนดี ?

Plastic พลาสติกส่วนมากทำจาก โพลีเอทิลีน (HDPE ) ผ่านความร้อนกลายเป็นแผ่นฟิล์มพลาสติก ที่ยืด และ ถูกตัด

Plastic - กระบวนการผลิตพลาสติก เริ่มจากเหมืองพลาสติก พลาสติกเกิดจากส่วนประกอบหลักคือ แก๊สธรรมชาติ และ ปิโตรเลียม วัสดุดิบเหล่านี้จะต้องถูกนำไปปรับเปลี่ยน และ เข้ากระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นสารโพลีเมอร์ พลาสติกส่วนมากทำจาก โพลีเอทิลีน (HDPE ) ผ่านความร้อนกลายเป็นแผ่นฟิล์มพลาสติก ที่ยืด และ ถูกตัดเพื่อที่นำมาขึ้นรูปเป็นถุงพลาสติกที่ส่งขายกันทั่วโลก

กว่าจะออกมาเป็นถุงพลาสติก เราต้องใช้พลังงานเป็นอย่างมากทั้งในการผลิตและขนส่ง ซึ่งสวนทางกับอายุของถุงพลาสติกที่คนมักจะใช้เพียงแค่ หนึ่งถึงสองครั้งแล้วก็ทิ้ง The Wall Street Journal ได้ทำผลสำรวจกว่า คนอเมริกันใช้และทิ้งถุงพลาสติกมากถึง 100,000,000 ใบต่อปี และมีเพียง 5 % เท่านั้นที่ถูกนำมาไป recycle อย่างถูกต้องเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

Paper - กระบวนการผลิตกระดาษ เริ่มจากการตัดต้นไม้ ไม้ซุงจะถูกเคลื่อนย้ายไปที่โรงโม่และอยู่นั่นเฉลี่ย 3 ปีเพื่อรอแห้ง จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการทำกระดาษผ่านความร้อน แรงดัน กรดกำมะถัน ถูกชำระล้างด้วยน้ำ และ ฟอกสีเพื่ออัดเป็นกระดาษ กระบวนการผลิตกระดาษก่อให้เกิดพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางน้ำ และ อากาศ

ดูเหมือนว่าการใช้กระดาษแทนพลาสติกเพื่อรักโลกนั้น จะกลายเป็นเพียงความเชื่อ The American Chemistry ได้ทำการศึกษาในปี 2014 เพื่อเปรียบเทียบถุงพลาสติดยืด (HDPE) กับถุงกระดาษที่มีส่วนประกอบ 30% เป็นไฟเบอร์ที่สามารถ recycle ได้ The American Chemistry พบว่าถุงพลาสติกใช้เชื้อเพลิง และ น้ำน้อยกว่าในกระบวนการผลิต อีกทั้งก่อให้เกิดแก๊สเรือนกระจก ฝนกรด น้ำเสียน้อยกว่ากระดาษอีกด้วย การศึกษานี้คำนึงถึงความสามารถในการรับน้ำหนักที่ต่างกันของทั้งสองวัสดุ ที่กระดาษอาจรับน้ำหนักได้มากกว่า

กล่าวคือ การเปรียบเทียบนี้ใช้ถุงพลาสติก 1,500 ใบ ต่อถุงกระดาษ 1,000 ใบ พลาสติกใช้พลังงานฟอสซิลไป 14.9kg ขณะที่กระดาษใช้ไป 23.2kg พลาสติกผลิตของเสีย 7kg ในขณะที่กระดาษผลิตถึง 33.9kg ในส่วนของการปล่อยแก๊สเรือนกระจก พลาสติกปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 0.04 tons ในขณะที่กระดาษปล่อยถึง 0.08 tons และการใช้น้ำ พลาสติกใช้ไป 58 gallons ในขณะที่กระดาษใช้ 1,004 gallons รวมพลังงานทั้งหมดสำหรับการผลิต การผลิตถุงกระดาษใช้พลังงานมากกว่าถุงพลาสติกถึง 1,859 megajoule

ข้อได้เปรียบของกระดาษ คือ การที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

เราไม่ฟันธงได้ว่าพลาสติกจะดีไปกว่ากระดาษเสมอไป อีกปัจจัยที่ควรตระหนักนอกจากกระบวนการผลิต คือกระบวนการย่อยสลาย ข้อได้เปรียบของกระดาษ คือ การที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Bio-degradable) ซึ่งพลาสติกทั่วไปไม่สามารถทำได้ ขยะพลาสติกจะอยู่กับเราไปอีก 20 - 1,000 ปี และ ขยะชิ้นเล็ก ๆ ของพลาสติกนั้นอาจจะไหลลงแหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ รวมทั้งกลายเป็นไมโครพลาสติกในอากาศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องเน้นย้ำตรงนี้ว่าการย่อยสลายในธรรมชาติของกระดาษนั้นจะเกิดขึ้นได้ในสภาวะที่มีออกซิเจนเหมาะสม ซึ่งอาจไม่เกิดขึ้นได้ในบริเวณฝังกลบ


หลอดกระดาษ ดีต่อโลกแค่ไหน ?

อีกปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ คือ การเปลี่ยนของร้านอาหารดัง จากการใช้หลอดพลาสติก มาเป็น หลอดกระดาษ แม้ว่ากระดาษจะมาสามารถย่อยสลายได้จริง แต่ไม่ใช่หลอดกระดาษที่เปื้อน และ เปียกนั้นจะย่อยสลายได้อย่างง่ายดาย UK McDonalds ออกมายอมรับว่า ทางร้านจะต้องทิ้งหลอดกระดาษทั้งหมดกว่า 1,800,000 หลอดที่ถูกใช้ทุกวันทั่วประเทศแทนที่จะนำไป recycle

การทำให้พลาสติกย่อยสลายได้ จะเป็นทางออกให้กับการใช้พลาสติก หรือไม่

แต่ไม่ใช่หลอดกระดาษที่เปื้อน และ เปียกนั้นจะย่อยสลายได้อย่างง่ายดาย
หลอดกระดาษดีต่อสิ่งแวดล้อม ?

ไบโอพลาสติก

Bio-plastic - ไบโอพลาสติกเกิดจากการนำพืช เช่น ข้าวโพด อ้อย หรือ สาหร่ายมาแปรสภาพให้เป็นโพลีเมอร์ โดยพืชที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ ก็คือข้าวโพด ในปี 2014 หนึ่งส่วนสี่ของสัดส่วนธัญพืชทั้งหมดที่ปลูกในอเมริกาถูกปลูก เพื่อนำมาทำ Bio-plastic การแทนที่ของพืชเพื่อพลาสติกเหล่านี้ ทำให้สัดส่วนพื้นที่สำหรับพืชเพื่อรับประทานลดน้อยลง มีผลทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น อีกทั้งการปลูกพืชเพื่ออุตสาหกรรมพลาสติกยังก่อให้เกิดมลภาวะอย่างมาก ข้าวโพดที่นำมาผลิตพลาสติกมักจะเป็นข้าวโพดตัดแต่งเพื่อให้ทนต่อสารเคมีที่ถูกใช้จำนวนมากในแปลงปลูก อันตรายทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และ สุขภาพของคนงานในแปลง

วัสดุแต่ละชนิด ล้วนมีข้อเสียที่แตกต่างกัน

จะเห็นได้วัสดุแต่ละชนิด ล้วนมีข้อเสียที่แตกต่างกัน อาจไม่มีวัสดุที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เนื่องด้วยความต้องการใช้ และ ข้อจำกัดที่แตกต่าง ทางที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ อาจะเป็น การใช้สิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ซ้ำ ให้ได้มากที่สุด และ กำจัดให้ถูกวิธีเมื่อถึงเวลา


แหล่งอ้างอิงข้อมูล:
Columbia.Edu
CarbonPositiveAustralia.Org
Ecoenclose.com
Medium.com/Tabitha-Whiting
AmericanChemistry.com


`**ร่วมแบ่งปันสาระธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม🌳 โดย 〜
🌐 : https://bio100.co.th
ⓕ : @Bio100Percent
IG : instagram.com/bio100plus
ʟɪɴᴇ 🆔 : https://bit.ly/bio100qr

Monday 11 October 2021

กินเจ กู้โลก

รู้หรือไม่ ลดสเต็กเนื้อหนึ่งชิ้น สามารถประหยัดน้ำไปได้ถึง 800 แกลลอน


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นความพยายามในการที่จะลดปัญหาภาวะโลกร้อน (global warming) และ สภาพอากาศผันผวน (climate change) จากหลายภาคส่วน หลากโครงการ แต่ทุกคน รู้หรือไม่ ว่าหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำได้ทันที คือ การกินเจ หรือ การงดบริโภคเนื้อสัตว์ และ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนม



นอกจากประโยชน์ในเชิงสุขภาพ การกินเจยังมีประโยชน์กับโลกในหลายประการ



ประการแรก: ประหยัดน้ำ

ค่าเฉลี่ยโลกของปริมาณน้ำที่ถูกใช้ (water footprint) ในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อ คือ 15,400 ลิตรสำหรับการผลิตเนื้อวัวหนึ่งกิโล 6,000 ลิตรสำหรับการผลิตเนื้อหมูหนึ่งกิโล และ 4,330 ลิตรสำหรับการผลิตเนื้อไก่หนึ่งกิโล

ส่วนใหญ่ของปริมาณน้ำถูกใช้ไปกับอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวสาลี (wheat) การปลูกข้าวสาลีหนึ่งกิโลกรัม ใช้น้ำถึง 1,000-2,000 ลิตร

ประการที่สอง: ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน

หากคนคู่หนึ่งเปลี่ยนมาบริโภคเจเป็นเวลาหนึ่งปี จะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 2,440kg CO2 หรือ เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของรถยนต์ขนาดเล็กของครอบครัวหนึ่งในเวลา 6 เดือน

ประการที่สาม: ลดปริมาณการปล่อยมีเทน

วัวและแกะ ปล่อยแก๊สมีเทนถึง 37% ของปริมาณแก๊สมีเทนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ แก๊สเหล่านี้เกิดจากกระบวนการย่อยอาหารและการขับถ่ายของสัตว์ในปศุสัตว์ ซึ่งมีเทนนั้นเป็นแก๊สที่มีอันตรายกับบรรยากาศของโลกมากกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซส์ถึง 25 เท่า

นอกจากนั้นในงานวิจัยของ Vasile Stanescu, Mercer University ระบุว่า สัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยวิธีการสมัยใหม่ที่เรียกกันว่า organic หรือ free-range อาจผลิตมีเทนมากกว่าสัตว์ที่เลี้ยงด้วยวิธีการปกติอีกด้วย

ประการที่สี่: ลดปริมาณการปล่อยแอมโมเนียและไนเตรต

อุตสาหกรรมสัตว์ปีกปล่อยแก๊สแอมโมเนียปริมาณมาก ซึ่งก่อให้เกิดฝนกรด อีกทั้งยังปล่อยไนเตรตมากถึง 64% เมื่อเทียบกับปริมาณไนเตรตที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ไนเตรตส่วนมาก มาจากของเสียที่เหล่าสัตว์ปีกขับถ่ายออกมา

ไนเตรตเป็นหนึ่งในสารที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยมีอันตรายกับโลก (Global Warming Potential - GWP) มากถึง 300 เท่าเมื่อเทียบกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซส์
เมื่อคำนึงถึงความอันตรายของไนเตรตต่อโลก หากเราสามารถลดการปล่อยสารชนิดนี้ได้ คงจะดีไม่น้อยอย่างแน่นอน

ประการสุดท้าย: ลดมลพิษทางน้ำ

มลพิษทางน้ำที่เกิดจากปศุสัตว์มีสาเหตุหลักมาจาก มูลสัตว์ ของเสียที่สัตว์ขับถ่าย, antibiotic, ยาฆ่าแมลงที่ปศุสัตว์นั้น ๆ ใช้

มูลสัตว์ หรือ น้ำเสียที่มีมูลสัตว์ ทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำ และ ลำธาร สัตว์ในฟาร์มทั่วโลกผลิตอุจจาระได้มากถึง 130 เท่าของประชากรทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา หากปศุสัตว์นั้น ๆ ไม่มีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล และ บำบัดน้ำเสียที่ดี ของเสียเหล่านี้จะกลายเป็นมลพิษต่อน้ำ ดินชั้นบน และ กลายเป็นสิ่งปนเปื้อนในอากาศ

antibiotic และ ยาฆ่าแมลงต่าง ๆ รวมทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ยาปฏิชีวนะ เมื่อปนเปื้อนลงไปในน้ำสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งน้ำ รวมถึงชีวิตมนุษย์ที่เกี่ยวพันกับแหล่งน้ำนั้น ๆ สารเหล่านี้สร้างปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ หรือ ปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง ซึ่งเป็นการสะพรั่งของตะไคร่ทะเล ตะไคร่เหล่านี้จะ ปิดกั้นทางน้ำ ขโมยออกซิเจนเพื่อใช้ในการสลายตัว และฆ่าประชากรปลาตาม

กินเจ อาจเป็นหนึ่งในทางออกให้กับโลกธรรมชาติ

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการกินเจมีประโยชน์มากมายกับโลก และ เป็นหนึ่งในวิถีที่เราสามารถทำได้เลย โดยที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย เราอาจจะไม่ต้องกินเจทุกมื้อก็ได้ในตอนเริ่มต้น หากแต่เราใส่ใจในปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ และ ผลิตภัณฑ์นมมากขึ้น ลด หรือ หาผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากพืชมาทดแทนในสัดส่วนที่เหมาะกับตนเอง เราก็สามารถที่จะช่วยโลกอย่างค่อยเป็น ค่อยไปได้

ผลิตภัณฑ์พืชที่เราจะนำมาบริโภคทดแทนก็มีความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น นมทางเลือกแทนการบริโภคนมวัว มีทั้งนมถั่วเหลือง นมข้าว นมโอ็ต นมมะพร้าว หรือ นมแอลมอน หากวัดกันจากมุมมองทางสิ่งแวดล้อม อาจกล่าวได้ว่า นมถั่วเหลืองเป็นนมทางเลือกที่ดีที่สุด นักวิจัยที่เปรียบเทียบหน่วยพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จำเป็นในการผลิตนมและถั่วเหลือง พบว่าต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 14 กิโลแคลอรี ในการผลิตนม 1 กิโลแคลอรี ในขณะที่เชื้อเพลิงฟอสซิลเพียง 1 กิโลแคลอรีสามารถผลิตถั่วเหลืองได้ 3.2 กิโลแคลอรี การวัดนั้นครอบคลุมถึงปริมาณปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ในการเกษตรแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการประเมินผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมนั้น เราไม่สามารถวัดได้จากปริมาณเชื้อเพลิงอย่างเดียว อาจจะต้องมีการประเมินถึงแหล่งที่มาอื่น ๆ เช่น ปริมาณน้ำ หรือ ขั้นตอนในการแปรรูปอื่น ๆ เช่นกัน

การมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกมากขึ้นในปัจจุบัน เป็นสัญญาณที่ดี เพราะ ตัวเลือกที่มีมากขึ้น ย่อมเป็นผลดีกับความพึงพอใจ และ ความต้องการที่หลากหลาย และ แตกต่างกันของแต่ละปัญเจก และ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะได้เห็นตัวเลือกที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต


แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://www.peta.org/issues/animals-used-for-food/fight-the-climate-crisis/
https://www.nrdc.org/stories/shrink-your-carbon-footprint-ease-dairy
https://waterfootprint.org/en/resources/interactive-tools/product-gallery/
https://vegsoc.org/info-hub/why-go-veggie/environment/
http://earthsave.org/globalwarming.htm
https://www.downtoearth.org/go-veggie/environment/top-10-reasons
https://www.carbonfootprint.com/calculator.aspx


ติดตามสาระห่วงไยสิ่งแวดล้อม 〜
🌐 : greentips.net
Facebook: Bio100Percent
IG: instagram.com/bio100plus
Line: @BIO100
Blockdit : GREENTIPS
🅱logger : GREENTIPS by BIO100

Friday 8 October 2021

สาหร่าย(อาหารและพลังสะอาด)จากทะเล



พลเมืองโลกเพิ่มขึ้นไม่หยุด ทีการคาดการณ์ว่าตัวเลขจะจะพุ่งจาก 8พันล้านไปถึง 9.8พันล้านในเวลาอีกเพียง30 ปี ปริมาณอาหารที่เราผลิตได้ในปัจจุบัน เพื่อเลี้ยงดูปากท้องของพลเมืองโลกเริ่มจะไม่เพียงพออีกต่อไป เนื่องจากธรรมชาติเริ่มมีปัญหา การจัดการหมุนเวียนนำกลับทรัพยากรเพื่อตอบสนองการบริโภคที่โตไม่หยุด มีความพยายามพัฒนาเทคโนโลยี่ ไม่ว่าจะเป็นการทำฟาร์มปศุสัตว์เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ หรือการทำประมงแบบยั่งยืน เพื่อจับสัตว์น้ำทางทะเลอย่างรับผิดชอบ แต่นับวันปริมาณก็ยังลดน้อยถอยลงทุกวัน หรือการพยายามเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทดแทนการจับจากธรรมชาติโดยตรง แต่ก็ยังดูเหมือน(อาจ)ไม่เพียงพอจะสร้างแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนถาวรให้เราได้ มีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญว่ามนุษย์ต้องหาทางเพิ่มผลผลิตอาหารให้ได้อีกอย่างน้อย 50% ภายใน 2050 ถึงจะเพียงพอ !

สาหร่าย (algae)

แต่เชื่อไหม มันมีทางออกที่น่าสนใจและก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะทั้งทดแทนแหล่งอาหาร และยังเป็นตัวช่วยสร้างแหล่งพลังงานทางเลือก จาก สาหร่ายทะเล ... พืชชั้นต่ำที่ไม่มีแม้ระบบท่อลำเลียงอาหารจากรากสู่ลำต้นและใบแบบพืชชั้นสูงอื่นๆ อยู่ในตระกูลต่ำกว่าหญ้าทะเลเสียอีก  สาหร่ายมีกลไกนำสารอาหารโดยใช้วิธีดูดซับน้ำและแร่ธาตุจากน้ำทะเลสู่เซลล์โดยตรง และเนื่องจากพืชกลุ่มนี้ไม่มีดอกและผล มันใช้วิธีขยายพันธุ์ด้วยการสร้างสปอร์และแบ่งตัว  สาหร่ายทะเลมีมากมายหลายแบบ ตั้งแต่แบบขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จนถึงชนิดที่เป็นต้นดูคล้ายพืชชั้นสูง

สาหร่าย (Algae) ดูจะเป็นพืชเศรฐกิจตัวใหม่ ใหญ่มากจนตอนนี้ประเทศออสเตรเลีย นำโดย Marine Bioproducts Cooperative Research Centre (MB-CRC) จับมือกับหน่วยงานวิจัย 11 แห่ง 3 มลรัฐ และอีกหลายสิบองค์กรเอกชน ระดมทุนกว่า $270 ล้านเหรียญทำโครงการระยะยาว เพื่อร่วมกันวิจัยพัฒนาต่อยอด จะสร้างตลาดสินค้าชีวผลิตภัณฑ์ (Bioproducts ) ต่างๆจากการนำสาหร่ายทะเล ทั้ง สาหร่ายมาโคร และสาหร่ายไมโคร ที่มาจากทะเลออสเตรเลีย


ออสเตรเลียเป็นทวีปที่ล้อมรอบด้วยทะเลและมหาสมุทรในทุกด้าน มีแผ่นดินกว้างใหญ่ภายในที่เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำมากมาย ซึ่งต่างไหลออกสู่ทะเล นำพาธาตุอาหารจำนวนมหาศาลออกสู่ทะเลและมหาสมุทร เป็นทั้งแหล่วอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของสาหร่าย มีปริมาณแสงแดดสาดส่องปริมาณมากเป็นอันดับต้นของโลก ( ที่จริงได้รับแสงแดดมากที่สุดในโลก ) เป็นปัจจัยสนับสนุนทั้งหมดนี้ ทำให้การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่าย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์สาหร่ายคุณภาพมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีความได้เปรียบเป็นอย่างมาก

สารสกัดสำคัญอย่าง โอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 ที่พบมากจากการที่ส่วนประกอบกว่าครึ่งของสาหร่ายคือ น้ำมัน Oil และสารต้านอนุมูลอิสระหลายตัว สามารถนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มค่าได้คลอบคลุมประเภทสินค้าหลากหลายประเภท มีการใช้ประโยชน์ทั้งในกลุ่มเวชภัณฑ์ กลุ่มอาหารเสริม เครื่องสำอาง และตัวโปรตีนที่สกัดจากสาหร่ายยังนำไปเป็นเป็นวัตุดิบสำหรับ plant-based meat ผลิตเนื้อสัตว์เทียมได้ด้วย หรือมีแม้กระทั่งการไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมด้านอาหารสัตว์(สะอาด) clean animal feeds ที่ช่วยลดก๊าซมีเทนได้กว่า 80% จากกการทำไร่ปศุสัตว์ (ตัวปัญหาใหญ่ของก๊าซเรือนกระจกในออสเตรเลีย)

ออสเตรเลีย ทวีปที่ล้อมรอบด้วยทะเลและมหาสมุทร

โดยประเมินกันว่าจะมูลค่าตลาดโดยรวมมีโอกาสขยายตัวเติบมีมูลค่าสูงถึงได้ 780,000 ล้านเหรียญต่อปี (ในปี 2035) แถมผลผลิตที่เกิดขึ้น สร้างการเติบโตทางเศรฐกิจได้ โดยยังรักษาดุลการปล่อยก็าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้อีกด้วย

หมายเหตู ประเมินกันว่าสาหร่ายทะเลที่มีอยู่ในโลกเป็นแหล่งผลิดอ๊อกซิเจน Oxygen มากถึง 50% ของปริมาณทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกทีเดียว และมันยังเป็นตัวกักเก็บก็าซ Carbon Dioxide สำคัญ จากการที่สาหร่าย ใช้ก๊าซ CO2 โดยเฉลี่ย 2 ส่วนเพื่อไปสร้างชีวมวลของตัวมัน 1 ส่วน หรือในอัตราถึง 2:1


สาหร่ายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรหดมาก ว่ากันที่จริงสาหร่ายก็เป็นจุลินทรีย์ประเภทหนึ่งที่ใช้พลังงานจากการสังเคราะห์แสงแดด และนำ คาร์บอนไดออกไซด์และแร่ธาตุที่อยู่ในทะเลหรือแหล่งน้ำมาเป็นองค์ประกอบในการดำรงชีวิตและขยายพันธ์ มันเจริญเติบโตแทบจะได้ในน้ำทุกชนิด และขยายตัวได้รวดเร็วอบ่งเหลือเชื่อ ทั้งในแม่น้ำ ทะเลสาบ บ่อน้ำขัง มหาสมุทร หรือแม้กระทั่งในน้ำเสีย และมันสามารถทนการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิสูงหรือต่ำ ค่าความเป็นกรดด่าง (พีเอส) สูงต่ำ ได้ในช่วงที่กว้างมาก สามารถอยู่ในที่มีความเค็มจัด อยู่ได้ในที่มีแสงแดดน้อยหรือมากก็ไม่มีปัญหา เติบโตด้วยตัวเอง หรือแบบ symbiosis กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

เราแบ่งสามารถออกได้เป็น 2 ประเภท สาหร่ายมาโคร ( macroalgae e.g. seaweed, kelps ) เป็นสาหร่ายที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในทะเลทั้งบริเวณชายฝั่ง และกลางมหาสมุทร ลักษณะภายนอกก็เหมือนพืชพรรณทั่วไป มีกายภาพรูปลักษณ์เป็นใบยาว บางชนิดความยาวได้ถึง 30 เมตรจากพื้นทะเล และสาหร่ายไมโคร ( microalgae e.g. single-celled photosynthetic organisms ) สาหร่ายขนาดจิ๋ว จุลชีพเซลล์เดี่ยว มีรงควัตถุสีเขียวสามารถสังเคราะห์แสงได้ในตัวเอง มักพบอยู่รวมกันเป็นอาณานิคมกลุ่มใหญ่ จนเราสามารถมองเห็นแพสีเขียวอมฟ้าสีเหลืองสีน้ำตาล บางครั้งมันก็ถูกเรียกว่าแพลงก์ตอนพืช

สาหร่ายไมโครตัวที่เรารู้จักกันดี และดูจะเป็นตัวที่ทั่วโลกให้การสนใจมากที่สุดชนิดหนึ่งก็คือ "spirulina" (สไปรูลิน่า) เราสามารถพบฟาร์มสาหร่ายชนิดนี้ได้ทั่วไป แทบจะทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ออสเตรเลีย อเมริกา ยุโรปหรือเอเซีย เพราะสามารถปลูกในบ่อ ปลูกได้กลางแจ้ง แทบไม่มีข้อจำกัดเรื่องสภาวะอากาศ โดยเฉพาะอากาศเมืองร้อนแบบประเทศไทย และเนื่องจากเป็นพืชที่เติบโตในน้ำเค็ม จึงไม่มีความต้องการน้ำจืด หรืออยู่ไกล้แหล่งน้ำ

หมายเหตุ: สไปรูลิน่าอยู่ในกลุ่มสาหร่ายเขียวแกมน้ำเงิน มันเติบโตได้ดีในน้ำจืดและน้ำเค็ม สาหร่ายสไรูลิน่ามีโปรตีนสูง 60% ยังอุดมไปด้วยโอเมก้า-3 และ โอเมก้า-6 รวมถึงแร่ธาตุต่างๆอีกหลายชนิด ไม่ว่าธาตุเหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม ทองแดง เบต้าแคโรทีน คลอโรฟิวล์ ซึ่งล้วนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้สารหร่ายสไปรูลิน่าถูกนำไปแปรรูปเป็นทั้งอาหาร เป็นส่วนผสมหรือปรุงรสอาหารหรือเคนื่องดื่ม เป็นยา เป็นอาหารเสริมโดยตรงหรือในรูปแบบต่างๆกัน รวมทั้งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ โคขุนหรือเลี้ยงไก่ รวมทั้งฟาร์มสัตว์น้ำ ว่ากันเฉพาะสไปรูลิน่า ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% CAGR มีการประมาณการตลาดรวมในอีก 5 ปีจะเติบโตจนแตะตัวเลข 1855 ล้านเหรียญสหรัฐ จากตัวเลขยอดขายกว่า 320,000 ตัน โดยประเทศจีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอันดับต้นๆของโลก


การใช้ประโยชน์จากสาหร่ายทะเล

สาหร่ายทะเลเป็นต้นทางของห่วงโซ่ แทบจะป็นข้อแรกๆ เพราะมันดึงพลังมาจากแสงอาทิตย์ มาสังเคราะห์แสงและเปลี่ยนธาตุอาหารจากมหาสมุทร และก็าซ CO2 มาสร้างมวลตัวเองเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ ตั้งแต่เล็กจิ๋วอย่างแพลงตอน หรือกุ้งหอยปูปลา จากเล็กถึงใหญ่ ที่ล่าและกินต่อกันมาเป็นทอดๆ จนสุดท้ายมาที่มนุษย์จับปลา หรือสัตว์ทะเลมาบริโภคเป็นแหล่งโปรตีน อาหารหลักที่ตอนนี้แทบเป็นแหล่งหลักสุดท้ายจากธรรมชาติที่มนุษย์ยังสามารถเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ได้ในปริมาณมาก

ประภทอุตสาหกรรมที่ใช้สาหร่ายไมโคร | ข้อมูล: alliedmarketresearch.com
ตารางเปรียบเทียบการใช้น้ำจืดในการผลิตเนื้อ(โปรตีน) | | ข้อมูล: agfundernews.com
ปริมาณโปรตีนที่ผลิตได้ต่อพื้นที่ | ข้อมูล: agfundernews.com

ลองดูชาร์ทเปรียบเทียบ การใช้น้ำจืด ทรัพยากรที่นับวันจะมีน้อยลงทุกวัน จากความแห้งแล้ว และสภาวะโลกร้อน เราจะเห็นได้ว่าการผลิดเนือวัว 1ตันต้องใช้น้ำจืดถึง 13 ล้านลิตร ในขณะที่การผลิดสาหร่าย ที่ไม่ต้องการใช้น้ำจืดเลย และในเชิงผลผลิต สาหร่ายก็ดูจะชนะขาด ลองดูค่าเปรียบเทียบ ผลผลิตเนื้อไก่ที่ได้ประมาณ 222 kg หรือถั่วเหลือง 721kg ในพื้นที่ 1 hectare (หรือ 6.25 ไร่) เทียบกับผลผลิตโปรตีนจากสาหร่ายไมโครที่มากถึง 24,000 ตัน

โครงการนี้ นอกจากช่วยสร้างแหล่งอาหารอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศ หากทำสำเร็ขก็จะลดการจับสัตว์นทะเลมาเปป็นอาหารโดยตรง ที่ทุกวันนี้ ปริมาณนับวันจะร่อยหลอลง เพราะเราระดมจับกันมากเกินไป ยังสร้างอุตสาหกรรมและตลาดสินค้ามูลค่าหลากหลาย สร้างงานสร้างเศรฐกิด และสุดท้าย ยังช่วยให้ออสเตรเลีย มีโอกาสทำ net zero ตามข้อตกลงเรื่องการลดโลกร้อน


ข้อมูลพื้นฐาน

  1. เพาะเลี้ยงง่าย แม้ในบ่อบำบัดน้ำเสีย มันเติบโตโดยดึงธาตุ N & P จากของเสียไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน ช่วยบำบัดน้ำไปด้วยในตัว
  2. สารหร่ายไม่มีแมลงศัตรูพืช เหมือนพืชไร่ชนิดอื่น จึงมันใช้ยาฆ่าแมลง ปลอดพิษปลอดสาร
  3. สามารถเพาะปลูกได้ทั้งปี และเติบโตเร็วมาก ขยายตัวใน(สภาวะที่เหมาะสม)ได้เท่าตัว ภายในเวลา 3 วัน
  4. ให้ผลผลิตสูง(ปริมาณโปรตีน)มากเมื่อเทียบกับการปลูกพืชประเภทอื่น หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงสัตว์
  5. ปลูกได้ทั่วไป ในบ่อน้ำต้องการน้ำลึกเพียง 10-50cm ปลูกได้ทั้งระบบเปิดและระบบปิด (ไม่มีแสงแดด แต่ใช้แหล่งพลังงานอื่น)
  6. เป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำจืดเลย และส่วนใหญ่เติบโตได้ดีในน้ำเค็ม มากกว่าน้ำจืดเสียอีก
  7. มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เป็นแหล่งโปรตีน ไขมันดี ทั้ง omega3/6 และสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด

ใช้สาหร่ายเป็นพืชพลังงาน

นอกจากใช้เพื่อการบริโภค เรายังใช้สาหร่ายทะเลมาทำเป็น bioethanol ทดแทนการใช้พืชพลังงานอย่างอื่นได้ด้วย เนื่องจากสาหร่ายมีประสิทธิภาพในการดึงพลังงานจากแสงอาทิตย์สูงโดยสามารถดึงพลังงานโซล่าจากแสงแดดได้ถึง9-10% มีการประเมินว่าเราสามารถผลิต สารชีวมวล biomass ได้มากถึง 45 ตันต่อไร่ ต่อปีเลยทีเดียว คำนวณจากผลผลิตสารชีวมวล 77g ต่อวันในพื้นที่ 1 ตรม

ขณะนี้มีการวิจัยสายพันธ์สาหร่ายกว่า 30,000 สายพันธ์ โดยเฉพาะในวิศวกรรมพันธุกรรมเพื่อเปลี่ยงแปลงในระดับยีน เพื่อให้สาหร่ายมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากกว่าปกติ ในไม่ช้าเราจะสามารถนำสาหร่ายมาทำ bioethanal ได้โดยไม่ต้องนำพืชไร่ หรือพืชเศรฐกิจ เช่นอ้อย ปาล์มน้ำมัน ( ที่สามารถแปรรูปอาหารสัตว์หรือแม้กระทั่งอาหารคนได้โดยตรง) และพืชเหล่านี้ล้วนต้องการพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ และที่สำคัญต้องการคือน้ำจืดปริมาณมาก เมื่อนั้นเราก็จะสามารถสร้างแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อใช้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

การนำสารชีวมวล (biomass) ไปใช้งาน | ข้อมูล: microbialcellfactories.biomedcentral

แหล่งอ้างอิง :
MBCRC
Ga.Gov.au
Link.Springer.com
PersistenceMarketResearch
Agfundernews.com
Theconversation.com
Microbialcellfactories.Biomedcentral


ติดตามสาระ GREENTIPS ไอเดียหลากหลายที่ 〜
🌐 : greentips.net
Facebook: Bio100Percent
IG: instagram.com/bio100plus
Line: @BIO100
Blockdit : GREENTIPS
Blogspot : GREENTIPS by BIO100

Monday 4 October 2021

ผลกระทบจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

 

แคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา หน้าร้อนที่ผ่านมา ปลาแซลมอนหลายสิบล้านตัวถูก"ต้มสุก"ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ถิ่นอาศัยปกติของพวกมัน ที่ซึ่งมันใช้แหวกว่ายหากินและเติบโตมายาวนานนับปี สาเหตุก็คือภาวะโลกร้อน อุณหภูมิโลกที่สูงผิดปกติ แสงแดดแผดเผาและความแห้งแล้ง(น้ำน้อยและแหล่งน้ำตื้นเขิน)ทำให้อุณหภูมิน้ำเพิ่มสูง การเพิ่มจำนวนของปาราสิตและตะไคร่น้ำ จนถึงขีดอันตรายต่อปลาแซลมอนที่เป็นสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำเย็นถึงเย็นจัด

ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เหล่านักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ต้องร่วมมือขนานใหญ่ ต้องมีการผันน้ำจากแหล่งน้ำอื่นจากที่ไกลออกไป เข้าไปเติมปริมาณน้ำ สร้างสะพานปลาเทียม ทำทางด่วน ทางลัด ช่วยให้ปลาสามารถว่ายออกสู่มหาสมุทรได้เร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งมีการขนย้ายปลาโดยตรงด้วยรถบรรทุก เพื่อรักษาชีวิตปลาหลายล้านตัว

เหตุการณ์ (สภาะวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม) ทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีก ถี่ขึ้น และมันก็จะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับปลาแซลมอน ปลาอีกหลายชนิดที่อยู่ในธรรมชาติก็จะได้รับผลกระทบในทำนองเดียวกัน

ปัจจุบันทั่วโลก สายพันธ์ปลากว่า 90% กำลังจะสูญพันธ์ และส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ภาวะโลกร้อนทำลายล้างสภาวะ สมดุลของธรรมชาติ มีความรุนแรงมากขนาดไหน ลองนึกภาพแนวปากะรังที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ออสเตรเลีย พื้นที่โดยรวม 350,000 ตร.กม.อย่าง Great Barrier Reef ที่ประเทศออสเตรเลีย ยังถูกทำลายหายไปจะครึ่ง แล้ว

แผนที่แสดงแนวปากะรังที่ถูกทำลาย | www.nationalgeographic.com

ยังไม่นับรวม มลพิษจากการปล่อยน้ำเสียบ้านเรือน จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบำบัดน้ำอย่างเหมาะสม ไหลลงสู่คูคลอง แม่น้ำ สู่ทะเลและมหาสมุทร หรือการรุกล้ำทำลายชายฝั่งทะเล ป่าโกงกาง แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน หรือการทำลายแนวปะการังแบบทั้งตั้งใจ และไม่ตั้งใจจากการท่องเที่ยว การเดินเรือ และการประมงชายฝั่งแบบผิดกฎหมาย

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เกิดขึ้นส่งสัญญาณชัดว่าปัญหาโลกร้อนหนักหนาสาหัส และส่งผลร้ายต่อระบบริเวศน์รุนแรง พวกเราควรทำอะไรสักอย่าง เพื่อแก้ปัญหาแบบจริงจังและให้ผลแบบยั่งยืน

ปัจจุบัน มนุษย์เราเหลือเพียงทะเลและมหาสมุทร เป็นแหล่งทรัพยากรสุดท้าย ที่ยังมีศักยภาพเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญจากธรรมชาติ แต่ไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหน ... ลำพังเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้มีการนำเข้าอาหารทะเลมาเพื่อบริโภคกว่า 90% เพราะไม่สามารถสรรหาในประเทศได้เพียงพอ โดยใน 1 ใน 3 ของเป็นเป็นปลาที่จับจากธรรมชาติ ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือ 2 ใน 3 ล้วนต้องนำเข้ามาจากฟาร์มเลี้ยงนอกประเทศ

อาจกลายเป็นว่า เรากำลังแก้ปัญหา(ทั้งลดการขาดแคลน และช่วยฟื้นฟูจำนวนปลาในธรรมชาติ)ด้วยการ"สร้าง"ปัญหาใหม่(ที่อาจใหญ่กว่า) ปัจจุบันอุตสาหกรรมการทำฟาร์มปลาขยายตัวสูงมาก ขนาดตลาดปัจจุบันมีมูลค่าถึง 180 พันล้านเหรียญสหรัฐ … ภายในอีก 2-3 ปี มีการคาดการณ์กันว่า ปลาเลี้ยงจะเริ่มมีปริมาณมากจนเพียงพอที่จะทดแทน ปลาที่จับจากธรรมชาติ โดยขนาดตลาดประเมินกันว่าจะเติบโดจน 270 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2027

การทำฟาร์มปลาสร้างปัญหามลภาวะ ทั้งจากน้ำเสียที่เกิดจากการให้อาหารให้กับปลาเลี้ยงปริมาณมาก ที่ถูกจำกัดบริเวณ ทำให้มีอาหารเหลือตกค้าง ปัญหาโรคระบาดจากการที่ปลามีสุขภาพอ่อนแอ ความเครียดสะสม โรคระบาดจากความแออัด ปัญหาการตกค้างของยาปฎิชีวนะในระบบนิเวศน์ ที่ใช้รักษาปลาที่ป่วย … โรคระบาดจากไวรัส เช่น Infectious salmon anemia (ISA) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่กระทบอุตสาหกรรมการทำฟาร์มปลา (โดยเฉพาะตระกูล Salmon / Trout) อย่างมีนัยสำคัญ

แถมการเลี้ยงปลา ก็ใช้ปลามาเป็นอาหาร มีการจับปลา Herrings / Sardines จำนวนมาก เพื่อมาทำใช้เป็นอาหารปลาเพื่อเลี้ยงแซลมอนอีกต่อหนึ่ง


ประเทศไทยการทำฟาร์มปลา ก็นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวทุกปี เรามีการเลี้ยงปลาทั้งปลาน้ำจือและปลาน้ำกร่อย

ในกลุ่มปลาน้ำกร่อย ส่วนใหญ่ก็จะเลือกเลี้ยงปลากะรัง หรือปลาเก๋า (grouper) และปลากะพงแดง (snapper) และกะพงขาว (barrumundi) โดยพื้นที่เลร้ยงส่วนใหญ่ก็อยู่ทางภาคใต้ เช่น สงขลา สตูล ตรัง ส่วนใหญ่ขะเลี้ยงแบบปลากะชัง (คือใส่กรงแล้วเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติเลย) กว่า 70% เป็นแบบนี้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ทางภาคกลางและตะวันออก ตามจังหวัดอย่าง สมุทรปรการ สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา ส่วนใหญ่ก็จะเลี้ยงเป็นแบบปลาบ่อ โดยโซนนี้ กว่า 95% จะเลี้ยงเป็นปลาบ่อ โดยรวมๆ เราเลี้ยงปลาน้ำกร่อยกว่า 22,000 ไร่ มีผลผลิตเกือบ 50,000 ตันต่อปี (ข้อมูลปี 2019)

นอกจากนั้น เรายังมีเลี้ยงปลาน้ำจืด เช่นปลานิล มีการเลี้ยงในปริมาณมากถึงกว่า 440,000 ไร่ มีผลผลิตกว่า 200,000 ตันต่อปี โดยเฉพาะการเลี้ยงปลานิล ผลผลิตระยะหลังก็ลดลง เนื่องจากเกษตรกรประสบภัยแล้งเร็วและยาวนานส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีน้อย

**ในการเลี้ยงปลา โดยเฉพาะปลากระชัง

สร้างปัญหามลพิษทางน้ำ** มีทั้งส่วนที่เป็นปัญหาต้นทางจากคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรม ทั้งเนื่องจากน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม น้ำทิ้งจากการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบหนาแน่นที่ไหลผ่านมา หรือภาวะน้ำขุ่น น้ำแดง น้ำเน่าจากการชะของน้ำฝนผ่านผิวดินต่างๆ ซึ่งผู้เลี้ยงไม่สามารถควบคุมได้ หรือน้ำเสียจากการเลี้ยงและให้อาหารมากเกิน เกิดการสะสมของอาหารและมูลที่ตกค้างในแหล่งน้ำ การขาดออกซิเจนในน้ำ การเลี้ยงสัตว์น้ำจำนวนมากเกินกว่าแหล่งน้ำ จนมีออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือการเลี้ยงปลาหนาแน่นเกินไปในพื้นที่ฟาร์มเลี้ยง การวางกระชังหนาแน่นเกินไป จนน้ำไหลผ่านได้น้อย ล้วนแต่สรร้างปัญหาทั้งต่อการผลิตปลาที่มีคุณภาพ และก็สร้างปัญหาต่อสภาพแวดล้อมในแหล่งน้ำนั้นๆ

อันที่จริง การเลี้ยงปลาเชิงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้แย่ไปทั้งหมด เทียบกับการเลี้ยงปศุสัตว์ชนิดอื่น เลี้ยงปลาดูจะใช้ทรัพยากรน้อยกว่า ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่เหมือนไก่ หมู วัว ไม่มีการนำอาหารไปสร้างความอบอุ่นให่ร่างกาย แถมปลาอยู่ในน้ำ ที่มีตัวช่วยพยุงตัวให้ลอยอยู่ในน้ำ ไม่ต้องใช้พลังงานต้านแรงดึงดูดโลกมาเท่ากับสัตว์บก หรือสัตว์ปีก โดยเฉลี่ย อัตราการแลกเนื้อ FCR การที่สัตว์นำอาหารที่กินเข้าไปเปลี่ยนเป็นน้ำหนักที่เพิ่มคือ 1:1 เทียบกับไก่ที่ 2:1 หรือหมูและวัว ที่ต้องใช้มากถึง 3:1 และ 7:1 ตามลำดับ

โจทย์ที่ยากตอนนี้คือ ทำอย่างไร ถึงจะเพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาเทคโนโลยี่ใหม่ การย้ายปลาจากกะชัง(ในแหล่งน้ำธรรมชาติ)มาเลี้ยงบนบก (ในบ่อ) มากขึ้น

อย่างที่ Bluehouse ในรัฐ Miami ประเทศสหรัฐๆ มีการนำลูกปลากว่าห้าล้านตัว Atlantic salmon ที่ปกติเป็นปลาที่เติบโตในแหล่งน้ำเย็นธรรมชาติที่ Norway / Scotland มาเลี้ยงในบ่อน้ำวนในระบบปิดและปรับอากาศ มีการควบคุมสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความเค็ม พีเอช อ็อกซิเจน การเคลื่อนที่ของน้ำ แสงสว่าง (หรือกลางวัน กลางคืน) การบำบัดน้ำเสีย ถ่ายเทก็าซ CO2 และนำน้ำเก่าหลังบำบัดแล้ว มาใช้หมุนเวียน ทาง Blueshoue ตั้งเป้าหมาย 9500 ตันต่อปีในปีแรก และมีแผนจะเพิ่มกำลังผลิตขึ้นเป็น 220,000 ตันในอีก 10 ปี

ไม่แต่แซลมอน เขาก็จะเลี้ยงปลากะพง (Barramundi) ในบ่อปูนบนพื้นที่ขนาดใหญ่ยักษ์ที่รัฐ Arizona อีกด้วย

อย่างไรก็ดี การบรรลุเป้าหมาย ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ฟาร์มปลาเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศ Norway และ Scotland แหล่งกำเนิดและต้นแบบของฟาร์มแซลมอน ให้ความเห็นว่า พวกเขายังไม่แน่ใจว่าการเลี้ยงแบบนี้ จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นไปดังคาดหวัง ทั้งเรื่องของผลผลิตที่ทำได้ ความคุ้มทุน และที่สุดการตอบโจทย์ทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง การลดก๊าซเรือนกระจก สร้าง net zero จากการเปลี่ยนจากเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติมาเลี้ยงในระบบปิด โดยเฉพาะปัจจัยการใช้พลังงานเพื่อควบคุมสภาวะแวดล้อมในระบบปิด และการบริหารจัดการน้ำ รีไซเคิล และอื่นๆ

ใกล้บ้านเรา อย่างที่ประเทศสิงคโปร์ มีความพยายามยกระดับ การนำปลามาเลี้ยงบนบก โดยยกไปอยู่ใน คอนโดตึก 8 ชั้น โดยทาง Apollo Singapore เคลมว่าสามารถการเลี้ยงปลาตึกได้โดยไม่เปลี่ยนน้ำ (เปลี่ยนน้ำในถังเพียง 5% ต่อครั้ง )ทำได้จริง ด้วยการใช้พืชน้ำเพื่อทำความสะอาดและบำบัดน้ำตามธรรมชาติ ยังมีเทคโนโลยีที่ทำให้ปริมาณน้ำทิ้งจากฟาร์มลดน้อยกว่าฟาร์มเลี้ยงปลาบนบกทั่วไป ซึ่งเกษตรกรมักต้องทำความสะอาดและเปลี่ยนน้ำในถังทั้งหมด และในภาพใหญ่ Apollo วางเป้าลดการเปลี่ยนน้ำปนเปื้อนจากปลาให้ลดลงเหลือ 0%


แหล่งอ้างอิง :
Bloomberg.com
National Geographic
Frontiersin.org
Sciencedirect.com
กรมประมง
BBC news
NatGeoThai


ติดตามสาระ GREENTIPS ไอเดียหลากหลายที่ 〜
🌐 : greentips.net
Facebook: Bio100Percent
IG: instagram.com/bio100plus
Line: @BIO100
Blockdit : GREENTIPS
Blogspot : GREENTIPS by BIO100

Sunday 26 September 2021

โลกเหลือเวลาอีกไม่มาก

 

มุมน้ำเงิน (สหรัฐอเมริกา)

We Don’t Have Much More Than 10 Years

US President . Joe Biden

สถาณการณ์โลกร้อนตอนนี้มาถึงจุดวิกฤติ เรามีเวลาอีกอย่างมากไม่เกิน 10ปี ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเด็นให้สัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ้านมา เขากล่าวระหว่างเข้าเยี่ยม California's Office of Emergency Services

เขาย้ำว่าปัญหาโลกร้อน ความแห้งแล้ง และไฟป่าที่เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในสหรัฐ ทำอันตรายต่อทั้งชีวิตทรัพย์สิน และสร้างเสียหายมหาศาลประเมินค่าไม่ได้ ทางเศรฐกิจ ล้วนเกิดจากปัญหาสะสมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และเขายืนยันเจตนารมณ์ตามที่เขาเคยให้ไว้ตอนเข้ารับตำแหน่ง ว่าจะสนับสนุนการแก้ปัญหาเรื่องนี้จริงจัง ล่าสุดเขาเตรียมเสนอขออนุมัติเงินช่วยเหลือจากรัฐสภา (ซึ่งก็คงไม่ได้จะทำได้โดยง่าย เพราะมีผู้เห็นต่างมากพอสมควร) ในวงเงินมูลกว่าสูงกว่า $11.4 billion เพื่อนำไปช่วยประเทศกำลังพัฒนา ให้สามารถเข้าร่วมและบรรลุมาตราการลดโลกร้อนด้วยเช่นกัน และจะเป็นผู้นำเร่งรัดให้พวกประเทศที่รำ่รวยกว่าร่วมสนับสนุนเงินให้ครบ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามสัญญาที่ให้ไว้ใน Paris Agreement ที่ตั้งเป้าหมายร่วมกันไม่ปล่อยก๊าชเรือนกระจกไปมากกว่าที่สามารถกำจัดได้ NET ZERO ในปี 2050 เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้สูงขึ้น 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียส

มุมแดง (สาธารณรัฐประชาชนจีน)

China will step up support for other developing countries in developing green and low-carbon energy, and will not build new coal-fired power projects abroad,

Chinese President Xi Jinping

ถัดมาเพียง 1 วัน Chinese President Xi Jinping's ออกมาให้สัภาษณ์ว่า จีนจะหยุดสร้างโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องพึ่งพาถ่านหิน ส่วนโรงงานที่มีมาก่อนหน้า จีน (เป็นผู้ใช้พลังงานถ่านหิน ขับเคลื่อนหลัก) ก็จะค่อยลดลงการพึ่งพิงถ่านหิน และหันมาทุ่มเทการวิจัยและใช้พลังงานทางเลือกทดแทน อย่างโครงการหลายแห่งในอินโดนีเซีย และบังคลาเทศ ก็คงต้องยกเลิกไป เพราะทรัพยากรในนั้น มีถ่านหินเป็นหลัก

เจ้าหน้าที่ระดับสูงจีน ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันประเทศจีนมีอุตสาหกรรมเพียง 20% และส่วนใหญ่อยู่นอกประเทศจีน ที่ใช้พลังจากถ่านหินเป็นหลัก ซึ่งการที่ทางประธานาธิบดี Xi ให้นโยบายหยุดสร้างเพิ่ม โดยยอมให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจถูกกระทบ อันเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของจีน โดยเขามองว่าจีนจะไปถึงจุดพีค (Peak) ของสร้างก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 แล้วจะค่อยๆลดต่ำลง

แต่จีนก็ยังเป็นจีน ไม่ยอมเล่นตามเกมส์ทางตะวันตกเสียทีเดียว โดยทางจีนยืนยันว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายได้สำเร็จแน่นอน อย่างที่จีนรับรอง จนถึงจุดศูนย์ NET ZERO ภายในปี 2060 (หรือ สิบ(10)ปีให้หลังจากที่ UN กำหนด .

การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC)

ปี2015 หรือ 5 ปีก่อนสหประชาชาติมีมติร่วมกับนนาชาติเพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 45%ภายในปี 2030 ซึ่งก็จะทำให้โลกของเราถึงจุดสมดุลที่และมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นสุทธิ เป็นศูนย์ (0) หรือ Net Zero ภายในปี 2050 โดยพลเมืองโลกต่างหันมาใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโลก และสภาวะโลกร้อนที่พวกเราประสบพบเจอตลอดหลายปีจะค่อยๆบรรเทาและก็คลี่คลายลง

มิถุนายน 2021 ในที่ประชุมที่ Brussel เลขายูเอ็นนาย อันโตนิโอ กูเทียเร ออกมาให้ข้อมูลว่าอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็น 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียส ตามเป้าที่ตั้งไว้ในข้อตกลงปารีส โดยย้ำว่าเวลาของเราก็ใกล้จะหมดลงแล้ว ที่จะสามารถทำอะไรเพื่อกอบกู้สถานการณ์

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (กันยายน 2021) จากรายงานล่าสุดจากที่ UN General Assembly พบว่ายังมีประเทศอีก 30% ที่ไม่ยอมแม้กระทั่งส่งเป้าหมาย NDC (National Determined Contributions) หรือ'การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด' ในการทำให้โลกเรามีก๊าซเรือนกระจกสุทธิเพิ่มเป็นศูนย์(0) ในปี 2050 ซึ่งตัวเลขการมีส่วนร่วมนี้สำคัญมาก เพราะเราจะได้มีมาตรวัดเพื่อเปรียบเทียบความพยายามของแต่ละประเทศ และผลลัพธ์ความสำเร็จ หรือปัญหาที่พวกเราต้องช่วยเข้าไปดูหรือช่วยเหลือ อย่างเช่นจีน และอินเดีย ประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 3 ของโลก ที่ดูยังมีปัญหา โดยมีปัจจัยของความต้องการพลังงานเพื่อขับเคลื่อนเศรฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เลยใช้ในรูปของ coal พลังถ่านหิน

เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC)

ในวาระที่โลกเรากำลังจะจัดประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของยูเอ็น COP26 ในพฤศจิกายนที่กำลังจะมาถึง UN ได้ทำบทวิเคราะห์ข้อมูลจากตัวเลขของ 191 ประเทศ ที่ส่งการบ้าน NDCหรือ 'เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ' เข้ามา NDC (National Determined Contributions) หรือ'การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด' ที่แต่ละประเทศ/รัฐที่ลงนามรับรอง และสรุปภาพเบื้องต้นให้ดูเพื่อเปรียบเทียบความคาดหวังความจริง เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซที่ประเมินว่าจะต้องลดให้ได้ 45%ในปี 2030 กลับเพิ่มขึ้นถึง16% เมื่อนำมาเทียบกับปี 2010

เราสามารถเห็นได้ชัดเจนจากช่องว่างของเส้นกราฟที่วิ่งห่างออกจากกัน และยังพุ่งสูงชัน ห่างไกลจากเป้าหมายยาวไปถึงปี 2060

ถ้ามาดูคะแนน NDC รายประเทศ ส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามคาด อย่างไทยแลนด์แดนสยามของเรา เรื่องนี้เราก็รับ F (Critically Insufficient) ตกชั้นไปตามฟอร์ม แต่มีเซอร์ไพรส์อย่าง ที่มีสิงคโปร์สอบตกเป็นเพื่อนด้วย + + + + + โดยมีประเทศจีน อินเดีย ตัวกลั่นแห่งวงการสร้างก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งประเทศอย่าง Australia, New Zealand, Canada, South America, UAE และ เกาหลี เวียดนาม อินโดนีเซีย ทำดีกว่าเล็กน้อย ได้เกรด D (Highly Insufficient) กันไป + + + + + แต่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เยอรมันนี และญี่ปุ่น ก็ล้วนแต่อยู่ในข่ายทำได้ไม่ดีนัก พอผ่านไปรับเกรด C (Insufficient) ได้แค่นั้น


หมายเหตุ

วาระสำคัญ COP26 - UN Climate Change Conference) การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศชองยูเอ็นครั้งที่ 26 ที่จะมีขึ้นในเดือนพศจิกายนนี้ ได้แก่

  • หยุดใช้พลังงานถ่านหิน
  • หยุดตัดไม้ทำลายป่า
  • เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า
  • ลงทุนในการผลิตพลังงานหมุนเวียน

โดยมีประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือ การติดตามให้ประเทศที่ร่ำรวยให้สนับสนุนเงินแสนล้านดอลล่าห์สหรัฐ (USD 100,000,000.-) เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาสามารถปรับตัวเพื่อมีส่วนร่วม และร่วมกันบรรลุเป้าหมาย NET ZERO ร่วมกัน

แล้วเรามาติดตามกันครับว่า ผลลัพธ์ของการประชุมจะเป็นอย่างไร ?

แหล่งข้อมูล

NewYorkTimes
GlobalTimes
S&P Global Intelligence
BBC news
UN Climate Change


ติดตามสาระ GREENTIPS ไอเดียหลากหลายที่ 〜
🌐 : greentips.net
Facebook: Bio100Percent
Line: @BIO100
IG: instagram.com/bio100plus

Wednesday 22 September 2021

แฟชั่นทำร้ายโลกหรือเปล่า ?

งดรับถุงหรือเลิกแต่งตัว (อะไรช่วยโลกได้มากกว่า)

บรรจุภัณฑ์พลาสติก

ปัจจุบัน การตะหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมคงเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วกัน และพวกเราส่วนมากก็คงมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่มากก็น้อย เลือกบริโภคแบรนด์สินค้าและสนับสนุนกิจการของแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแน่นอนการ เลือกบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ก็ดูเหมือนเป็นตัวเลือกต้นๆ ที่พวกเราถือปฎิบัติกัน ในเชิงการตลาด สินค้าแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ต่างรู้แนว หันมารับลูก อย่างร้านสะดวกซื้อเชนยักษ์ 7-11 ก็งดแจกถุงพลาสติก ให้กับลูกค้าที่แวะเพื่อซื้อสินค้า"สะดวกซื้อ" สะดวกรับประทานกัน แต่ตอนนี้(อาจ)ไม่ได้สะดวกถือ ทำเอาลูกค้าต้องลำบากขึ้น หอบของกินหลายไซส์พะรุงพะรัง (คือมันไม่เหมือนไปช๊อปปิ้ง ที่เราไปห้างๆ และก็เตรียมตัวนำถุงผ้าไปซือของจริงจัง

ร้านกาแฟรุ่นใหญ่ Starbucks / true coffee ก็สนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วกาแฟมาจากบ้าน มีส่งเสริมการขาย สร้างแรงจูงใจด้วยการลดราคา เทรนด์นี้ทั้งร้านเล็กใหญ่ ก็ตามกันมา … Amazon Coffee ของ ปตท ก็เอากับเขา แถมไปต่ออีกด้วยการเปลี่ยนมาใช้ eco-cup ย่อยสลายได้ หรือ พี่สตาร์บัคส์ไม่อาจน้อยหน้าด้วยการเลิกใช้หลอดพลาสติก แต่หันมาให้หลอดกระดาษแทน ว่ากันตามจริง ก็ไม่ค่อยเหมาะกับการดูดเครื่องดื่มเย็นสักเท่าไหร่ เพราะกระดาษจะยุ่ยและก็ทำให้เครื่องดื่มมีกลิ่นรสแปลกไป

จากสายรีเทลมาโรงพยาบาลทั้งรัฐทั้งเอกชน ต่างงดถุงพลาสติกหรือไม่ก็แจกถุงผ้าถุงกระดาษ เอาตามจริง พอไปหาหมอบ่อยเข้า ก็รู้สึกว่าไม่ช่วยเท่าไหร่ เราเริ่มมีถุง(ใช้ซ้ำได้)มากขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร คือถุงพลาสติกกร็อบแกร็บยังเอาใส่ขยะในครัวได้ ไม่ก็ไว้ซ้อนถังผงในบ้าน แต่ถุงกระดาษนี่ทำได้แต่ซ้อนไว้ชั่งกิโลขาย แถมมีความรู้สึกว่า ถุงกระดาษใบหนึ่งผลิตขึ้นมาก็น่าจะมี carbon footprint ไม่น้อย

สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า - ธุรกิจสิ่งทอ)

เสื้อผ้าแฟชั่นก็ตามมา ล่าสุด Uniqlo เตรียมงดให้ถุงพลาสติกสีขาวใบเขื่อง และยังทำโครงการ เช่นตั้งกล่องรับบริจาคเสื้อเก่า นำไปคัดแยกเป็นหมวดหมู่ที่ตรงความต้องการของผู้รับ เพื่อให้นำไปใช้ได้จริง หรือการพัฒนากระบวนการผลิตให้ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการฟอกยีนส์ด้วยวิธีโอโซน หรือการแต่งผิวด้วยเลเซอร์

Fashion Items ราคาถูงลง (ทุกคนเข้าถึงได้) น่าจะเป็นเรื่องดี

ความตั้งใจที่ดี กับความพยายามริเริ่มเป็นเรื่องที่ดี ต่างคนต่างทำเท่าที่ทำได้ สิ่งแวดล้อมของเราก็น่าจะค่อยๆดีขึ้น แต่ปัญหาของเรามันก็ใหญ่เสียเหลือเกิน คือมันหนักหนาสะสม แบบที่ว่าเราต้องลดการปล่อยก๊าซ CO2 ให้ได้ 2.6หมื่นตันทุกๆ 2 ปี ต่อเนื่องไปอีกหนึ่ง(1) ทศวรรษ ถึงจะส่งผลอย่างมีนัยยะ ให้ภาวะโลกร้อนดีขึ้น

ไม่น่าเชื่อว่า สินค้าแฟชั่นเป็นปฎิปักษ์ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก มีการประเมินกันว่า อุตสาหกรรมนี้เพียงตัวเดียว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นกว่า 10% ของ CO2 ทั้งหมดที่มนุษย์เราทำให้เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น น้ำถูกใช้ในกระบวนการผลิตเป็นปริมาณมหาศาล รู้หรือไม่ว่าเราต้องใช้น้ำถึง 2700 ลิตรเพื่อผลิดเสื้อคอตต้อน 1 ตัว (ปกติมนุษย์เราดื่มน้ำเฉลี่ยวันละ 8 แก้ว แปลว่าการผลิตเสื้อตัวเดียว ต้องใช้น้ำมากขนาดที่คนหนึ่งคนไป 3.5 ปีเลย) ว่ากันที่จริง มีการประเมินว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอใช้น้ำมากเป็นที่ 2 เมื่อเทียบกับการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมดของมนุษย์ชาติ

ยังไม่นับถึงสารเคมีมากชนิดที่ใช้ในการผลิต กระบวนการส่วนใหญ่ก็ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้นเหตุของการปล่อยสาร CO2 แถมด้วยNO NO2 SO2และออกไซด์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาในขั้นตอนอื่นๆอีก ไม่ว่าจะเป็นการทอฟอกย้อม สุดท้ายปลายทาง โรงงานก็ปล่อยทิ้งน้ำเสียจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็มีโลหะหนักเจือปนตกต้าง อาทิปรอท ตะกั่ว สารหนู แต่ที่หนักหนาสาหัสกัน เพราะสินค้าแฟชั่นเหล่านี้ ส่วนใหญ่ผู้ผลิตในประเทศที่มีค่าแรงตำ่อย่าง จีน อินเดีย บังคลาเทศ ที่การควบคุมโดยหน่วยงานรัฐไม่เข้มงวด ทำให้น้ำเสียถูกปล่อยทิ้งไปโดยไม่ผ่านการบำบัดน้ำเสียที่ถูกหลักวิชาการ และเหมาะสม เพื่อช่วยลดค่าของเสียให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก่อนปล่อยออกแม่น้ำ คูคลองสาธารณะ ทำให้ในที่สุดน้ำเสียจำนวนมากก็ถูกทิ้งออกสู่ทะเลและมหาสมุทร

จนมีคำกล่าวว่าอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างมลภาวะมากที่สุดของโลก

เทรนด์ล่าสุดของโลกแฟชั่น อย่างการที่เราหันมาใส่เสื้อผ้า fast & casual ใช้เสื้อผ้าเรียบง่าย ราคาไม่แพง ดันให้การบริโภคเสื้อผ้าใหม่ กระโดดขึ้นเป็นเท่าตัว แทบจะทุกปี ตั้งแต่ปี 2000 อุปสงค์ที่ถูกเร้าจากราคาถูก สไตล์เรียบง่าย (ร่วมส่งเสริมกันถ้วนหน้าโดยวงการแฟชั่นที่ต่างออกคอลเล็คชั่นเนื้อผ้าหรือสไตล์ใหม่เพิ่มขึ้น จากเดิมปีละ 2 ชุด เป็น 5 ชุดโดยเฉลี่ย) ทำให้เราซื้อเสื้อผ้าเพิ่มกันถึง 60% ต่อคนต่อปี ประเมินกันว่าพวกเราชาวโลก 8พันล้าน (8,000,000,000) คน ใช้เสื้อผ้าใหม่กันมากถึงปีละ 8หมื่นล้าน (80,000,000,000) ตัวกันทีเดียว

The waters of the River Ganges (Image: .iberdrola.com)

และเสื้อผ้าแนวใหม่ราคาย่อมเยานี้ ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากเส้นใยสังเคราะห์จากกระบวนการปลายน้ำของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่ว่าจะเป็นไนล่อน โพลีเยสเตอร์ หรือเส้นใยชื่ออ่านยากอีกหลายตัว ซึ่งที่เราอาจนึกไม่ถึง ก็คือการซักผ้า ยิ่งเรามีเสื้อผ้าใช้เยอะ (ใส่หลายตัว หลายชิ้น หรือเปลี่ยนบ่อยๆ ตามแต่กิจกรรมของแต่ละช่วงวัน) พอเรานำไปซัก น้ำซักผ้าจะชะล้างคราบสกปรกและปล่อยไมโครพลาสติก (microfibers) ออกมาจำนวนหนึ่ง อย่างเสื้อใยสังเคราะห์หนึ่งชุดจะปล่อย microfiber 1.7 gram ออกมากับน้ำที่ซักล้าง และประมาณ 40%ของพลาสติกพวกนี้ สุดท้ายก็ไหลลงคลองสาธารณะและปลายทางที่มหาสมุทร ถูกกินโดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋ว ถูกกินโดยปลาเล็ก และก็ปลาใหญ่ เป็นทอดๆกันไป จนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ของพวกเราชาวมนุษย์ในที่สุด มีการคำนวณว่าน้ำซักผ้าทั้งหมดในโลก เป็นตัวการปล่อยไมโครพลาสติกออกสู่มหาสมุทรรวมกันต่อปี ในปริมาณมากถึง 500,000ตัน หรือเทียบเท่ากับ ขวดพลาสติก 5หมื่นล้าน (50,000,000,000) ใบทีเดียว แน่นอน การมีเสื้อผ้าให้เลือกใส่มากขึ้น ทำให้เราเปลี่ยนคอลเล็คชั่นส่วนตัวบ่อยขึ้น เสื้อผ้่ที่เราไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่หมด เราก็ต้องนำมันทิ้งไป ซึ่งในแต่ละวัน จะมีเสื้อผ้าถูกนำไปทิ้งในปริมาณเท่ากับ1 คันรถดัมพ์ต่อวินาทีกันเลย

หลายปีมานี้ ปัญหานี้ มีการหยิบยกมา และวงการเสื้อผ้า(อุตสาหกรรมแฟชั่น)ก็ตื่นตัว พยายามปรับตัว และริเริ่มกันตั้งแต่ปี 2019

  1. มีการประชุมร่วมกัน และรวมกลุ่มกันทำข้อตกลง ที่จะลดการปล่อยก๊าซ ปรับปรุงกระบวนการตั้งแต่วัตถุดิบ ระบบการผลิตไปจนถึงโลจิสติกส์ เป้าหมายคือลดการปล่อยก็าซให้ได้ 30% ภายในปี 2030 มีการ(กำหนดเป้าหมายระหว่างอุตสาหกรรม)
  2. ร่วมกันใช้พลังงานสะอาด ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ที่สร้างมลภาวะมากกว่า
  3. สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อหาวัตถุดิบที่ดีต่อโลกมากขึ้น ลดการใช้เส้นใยทอขึ้นใหม่ (virgin material) หรือวัตถุดิบสังเคราะห์จากปิโตรเคมี รวมถึงหาทางนำวัตถุรีไซเคิลมาใช้เป็นตัวเลือกให้มากขึ้น
  4. ร่วมมือกับผู้ให้บริการขนส่ง ชิปปิ้ง ซึ่งธุรกิจสิ่งทอเป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่อันดับต้นๆ ผลักดันให้วงการสายเรือ ปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซในการเดินเรือทะเล

น่าเสียดาย ผ่านไป 2 ปี ตั้งแต่กำหนดเป้าหมายร่วมกัน องค์กร Stand.Earth เพิ่งประกาศ Fossil-Free Fashion Scorecard หลังประเมิน 47 แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก พบว่าความพยายามทำตามข้อตกลง ค่อนข้างล้มเหลว …. กว่าสามในสี่หรือ 75% ของผู้ร่วมประชุมได้รับคะแนน เกรด F คือสอบตกไม่เป็นท่า … ลองดูตัวอย่างแบรนด์ใหญ่ที่เราคุ้นเคยกัน

NIKE ที่ได้เกรด C+) เขาทำงานกับโรงงานให้เปลี่ยนแหล่งจ่ายพลังงานให้ความร้อน พยายามลดการใช้ เชื้อเพลิงถ่านหินมากใช้พลังสะอาดให้มากขึ้น หรืออย่างการมีเป้าหมายชัดเจน พร้อมแผนปฎิบัติการให้ทั้งฝ่ายผลิตและขนส่ง โดยลงมือทำงานกับโรงงานหลายแห่ง จับเชื่อมต่อกับ ผู้จำหน่าย พลังงานสะอาด ทั้ง US / EU

LEVI's มีการตั้งเป้าหมาย ทำแผนชัดเจน ลงไปถึงระดับโรงงานผลิตเช่นกัน พร้อมมีเงื่อนไขการให้แรงจูงใจ และแผนการช่วยเหลือด้านการเงิน แต่ยังไม่มีความชัดเจนในแผนปรับปรุงเรื่องขนส่ง ทางลีวายส์ก็เลยได้เพียง เกรด C

ยังนับว่าสอบผ่าน ไม่ถึงกับต้องซ้ำชั้น แต่ก็ยังไม่อาจนับว่าทำได้ดี เพราะได้แค่ C/C+

เราในฐานะผู้บริโภค เริ่มที่ตัวเรา ขอเพียงเริ่มต้น ไม่ต้องรอใคร

  • ลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ ใช้ของเดิมที่อยู่ล้นตู้ให้นานขึ้น
  • ซื้อเสื้อผ้ามีคุณภาพ เน้นความคงทน ใช้งานได้นาน
  • สนับสนุนแบรนด์ที่มีนโยบายใส่ใจสิ่งแวดล้อม
  • ใช้เสื้อผ้าซ้ำ อย่างเสื้อคลุมภายนอก อย่างสูท แจ็กแก็ต ก่อนนำไปซัก
  • คิดเยอะๆก่อนทิ้งเสื้อผ้าเก่า เช่น ซ่อม ดัดแปลง บริจาค ขายต่อให้ร้านมือสอง
  • ซื้อจากร้านมือสอง แลกกัน หรือ เช่า **

หมายเหตุ:

** ธุรกิจหลายอย่างจากความพยายามจากกลุ่มคนที่เห็นปัญหาและหาทางออก ที่เป็นทางเลือกช่วยจัดการกับเสื้อผ้าใช้แล้ว แต่ยังมีคุณค่า หลายกิจการมีแผนธุรกิจชัดเจน และมีโอกาสทางการตลาดและมี เช่น RentTheRunWay ที่นำเสื้อผ้าใส่ออกงานมาให้เช่าใช้ หรือ VINTED ที่อังกฤษ และ TokyoCheapo


ที่มาของข้อมูล

Internation Labour Organization
Greenofchange.com
IBERDROLA
SustainYourStyle.org
Stand.Earth
FastCompany
EcoTextile.com
GreenQueen


ติดตาม GreenTips ได้ทุกช่องทาง
🌐 : greentips.net
Facebook: Bio100Percent
Line: @BIO100
IG: instagram.com/bio100plus

Tuesday 7 September 2021

๒ ปีหลังโควิท-19 ยึดโลก

ภาวะโรคร้อนดีขึ้นแต่ยังไม่พอ

แน่นอนพวกเราคงจะคิดว่าโลกหลังโควิทผ่านไป คงทำให้ภาวะโลกร้อนดีขึ้น อุณหภูมิโลกคงกลับลงมาเย็นลง ธรรมชาติคงเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ พื้นที่ป่าไม้ ต้นน้ำแม่น้ำภูเขา และเหล่าสิงสาราสัตว์ ต่างมีที่ทางฟื้นตัวกลับมา

หลังจากผ่านไปเกือบ 2 ปี โลกของเรา(ยัง)คงล๊อคดาวน์ต่อไป การใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยม และการขับเคลื่อนเศรฐกิจด้วยการใช้พลังงานจากฟอสซิลลดลงมหาศาล ส่งผลให้การปล่อยก๊าซ CO2 ตัวการหลักของปัญหาก๊าซเรือนกระจก ลดลงไปถึง 2.6หมื่นตัน หรือ 7% ภายในช่วงปี2020 เพียงปีเดียว จากตัวเลขรายงานใน Chart และ บทวิเคราะห์ ของ Nature.com ก็ ดูจะเป็นเช่นนั้น

แต่เอาเข้าจริงๆ สถานการณ์อาจไม่เป็นอย่างนั้นทั้งหมด อ้างอิงจากตัวเลขที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมได้ติดตามวิเคราะห์ข้อมูล แล้วพบว่าตัวเลขที่ลดลงนั้นดูเหมือนยังไม่เพียงพอที่จะพลิกฟื้นภาวะโรคร้อนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 มีการประเมินกันจากนักวิจัยว่า เราต้องลดการปล่อยก๊าซ CO2 ปริมาณเดียวกันนี้ (2.6หมื่นตัน) ให้ได้ทุกๆ 2 ปี ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย10ปี (หรือ หนึ่งทศวรรษต่อจากนี้) ถึงจะส่งผลอย่างมีนัยยะให้ภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามโลกของเรา และทุกชีวิตบนโลกนี้ให้หมดไปได้แบบยั่งยืน

ยิ่งไปกว่านั้น การที่สถานการณ์โควิท-19 ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังส่งผลค่อนข้างรุนแรงในหลายพื้นที่ ก็ได้เริ่มคลี่คลายลงในอีกหลายๆประเทศ กำลังการผลิตวัคซีนโควิทเริ่มเข้าที่เข้าทาง และพลเมืองโลกเริ่มได้รับวัคซีนกันมากขึ้น การออกมาใช้ชีวิตแบบเดิม เหมือนช่วงก่อนโควิท ก็คงจะค่อยๆเริ่ม และก็กลับมาเต็มพิกัดกันในอีกไม่ช้าไม่นาน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดูเหมือนจะบรรเทาเบาบางในช่วงโควิท ก็คงจะกลับย่ำแย่เหมือนเดิม

ที่สุดแล้วก็อยู่ที่พวกเราครับ รักษ์โลกรักตัวเรา ก็ต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ต้องเริ่มที่พวกเราครับ คนละไม้คนละมือ

image

ติดตาม GREENTIPS ทาง 〜
𝕗𝕒𝕔𝕖𝕓𝕠𝕠𝕜 : BIO100
𝕚𝕘 : instagram.com/bio100plus
🆔 ʟɪɴᴇ : @bio100
🅱logger : bio100plus
🌐 : bio100percent

โพสต์เด่น

10 ไม้ยืนต้นออกดอกสวย

มาสู้โลกร้อนกันด้วยการ ปลูกต้นไม้ในบ้านกัน นอกจากลดการใช้พลังงานฟอสซิล หันมาใช้พลังงานสะอาด ก็คือช่วยการปลูกต้นไม้ 🌳 🌿 🌱 เพิ่มพื้นท...

โพสต์น่าสนใจ