Showing posts with label ประหยัดน้ำ. Show all posts
Showing posts with label ประหยัดน้ำ. Show all posts

Monday 11 October 2021

กินเจ กู้โลก

รู้หรือไม่ ลดสเต็กเนื้อหนึ่งชิ้น สามารถประหยัดน้ำไปได้ถึง 800 แกลลอน


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นความพยายามในการที่จะลดปัญหาภาวะโลกร้อน (global warming) และ สภาพอากาศผันผวน (climate change) จากหลายภาคส่วน หลากโครงการ แต่ทุกคน รู้หรือไม่ ว่าหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำได้ทันที คือ การกินเจ หรือ การงดบริโภคเนื้อสัตว์ และ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนม



นอกจากประโยชน์ในเชิงสุขภาพ การกินเจยังมีประโยชน์กับโลกในหลายประการ



ประการแรก: ประหยัดน้ำ

ค่าเฉลี่ยโลกของปริมาณน้ำที่ถูกใช้ (water footprint) ในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อ คือ 15,400 ลิตรสำหรับการผลิตเนื้อวัวหนึ่งกิโล 6,000 ลิตรสำหรับการผลิตเนื้อหมูหนึ่งกิโล และ 4,330 ลิตรสำหรับการผลิตเนื้อไก่หนึ่งกิโล

ส่วนใหญ่ของปริมาณน้ำถูกใช้ไปกับอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวสาลี (wheat) การปลูกข้าวสาลีหนึ่งกิโลกรัม ใช้น้ำถึง 1,000-2,000 ลิตร

ประการที่สอง: ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน

หากคนคู่หนึ่งเปลี่ยนมาบริโภคเจเป็นเวลาหนึ่งปี จะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 2,440kg CO2 หรือ เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของรถยนต์ขนาดเล็กของครอบครัวหนึ่งในเวลา 6 เดือน

ประการที่สาม: ลดปริมาณการปล่อยมีเทน

วัวและแกะ ปล่อยแก๊สมีเทนถึง 37% ของปริมาณแก๊สมีเทนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ แก๊สเหล่านี้เกิดจากกระบวนการย่อยอาหารและการขับถ่ายของสัตว์ในปศุสัตว์ ซึ่งมีเทนนั้นเป็นแก๊สที่มีอันตรายกับบรรยากาศของโลกมากกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซส์ถึง 25 เท่า

นอกจากนั้นในงานวิจัยของ Vasile Stanescu, Mercer University ระบุว่า สัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยวิธีการสมัยใหม่ที่เรียกกันว่า organic หรือ free-range อาจผลิตมีเทนมากกว่าสัตว์ที่เลี้ยงด้วยวิธีการปกติอีกด้วย

ประการที่สี่: ลดปริมาณการปล่อยแอมโมเนียและไนเตรต

อุตสาหกรรมสัตว์ปีกปล่อยแก๊สแอมโมเนียปริมาณมาก ซึ่งก่อให้เกิดฝนกรด อีกทั้งยังปล่อยไนเตรตมากถึง 64% เมื่อเทียบกับปริมาณไนเตรตที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ไนเตรตส่วนมาก มาจากของเสียที่เหล่าสัตว์ปีกขับถ่ายออกมา

ไนเตรตเป็นหนึ่งในสารที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยมีอันตรายกับโลก (Global Warming Potential - GWP) มากถึง 300 เท่าเมื่อเทียบกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซส์
เมื่อคำนึงถึงความอันตรายของไนเตรตต่อโลก หากเราสามารถลดการปล่อยสารชนิดนี้ได้ คงจะดีไม่น้อยอย่างแน่นอน

ประการสุดท้าย: ลดมลพิษทางน้ำ

มลพิษทางน้ำที่เกิดจากปศุสัตว์มีสาเหตุหลักมาจาก มูลสัตว์ ของเสียที่สัตว์ขับถ่าย, antibiotic, ยาฆ่าแมลงที่ปศุสัตว์นั้น ๆ ใช้

มูลสัตว์ หรือ น้ำเสียที่มีมูลสัตว์ ทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำ และ ลำธาร สัตว์ในฟาร์มทั่วโลกผลิตอุจจาระได้มากถึง 130 เท่าของประชากรทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา หากปศุสัตว์นั้น ๆ ไม่มีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล และ บำบัดน้ำเสียที่ดี ของเสียเหล่านี้จะกลายเป็นมลพิษต่อน้ำ ดินชั้นบน และ กลายเป็นสิ่งปนเปื้อนในอากาศ

antibiotic และ ยาฆ่าแมลงต่าง ๆ รวมทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ยาปฏิชีวนะ เมื่อปนเปื้อนลงไปในน้ำสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งน้ำ รวมถึงชีวิตมนุษย์ที่เกี่ยวพันกับแหล่งน้ำนั้น ๆ สารเหล่านี้สร้างปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ หรือ ปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง ซึ่งเป็นการสะพรั่งของตะไคร่ทะเล ตะไคร่เหล่านี้จะ ปิดกั้นทางน้ำ ขโมยออกซิเจนเพื่อใช้ในการสลายตัว และฆ่าประชากรปลาตาม

กินเจ อาจเป็นหนึ่งในทางออกให้กับโลกธรรมชาติ

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการกินเจมีประโยชน์มากมายกับโลก และ เป็นหนึ่งในวิถีที่เราสามารถทำได้เลย โดยที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย เราอาจจะไม่ต้องกินเจทุกมื้อก็ได้ในตอนเริ่มต้น หากแต่เราใส่ใจในปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ และ ผลิตภัณฑ์นมมากขึ้น ลด หรือ หาผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากพืชมาทดแทนในสัดส่วนที่เหมาะกับตนเอง เราก็สามารถที่จะช่วยโลกอย่างค่อยเป็น ค่อยไปได้

ผลิตภัณฑ์พืชที่เราจะนำมาบริโภคทดแทนก็มีความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น นมทางเลือกแทนการบริโภคนมวัว มีทั้งนมถั่วเหลือง นมข้าว นมโอ็ต นมมะพร้าว หรือ นมแอลมอน หากวัดกันจากมุมมองทางสิ่งแวดล้อม อาจกล่าวได้ว่า นมถั่วเหลืองเป็นนมทางเลือกที่ดีที่สุด นักวิจัยที่เปรียบเทียบหน่วยพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จำเป็นในการผลิตนมและถั่วเหลือง พบว่าต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 14 กิโลแคลอรี ในการผลิตนม 1 กิโลแคลอรี ในขณะที่เชื้อเพลิงฟอสซิลเพียง 1 กิโลแคลอรีสามารถผลิตถั่วเหลืองได้ 3.2 กิโลแคลอรี การวัดนั้นครอบคลุมถึงปริมาณปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ในการเกษตรแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการประเมินผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมนั้น เราไม่สามารถวัดได้จากปริมาณเชื้อเพลิงอย่างเดียว อาจจะต้องมีการประเมินถึงแหล่งที่มาอื่น ๆ เช่น ปริมาณน้ำ หรือ ขั้นตอนในการแปรรูปอื่น ๆ เช่นกัน

การมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกมากขึ้นในปัจจุบัน เป็นสัญญาณที่ดี เพราะ ตัวเลือกที่มีมากขึ้น ย่อมเป็นผลดีกับความพึงพอใจ และ ความต้องการที่หลากหลาย และ แตกต่างกันของแต่ละปัญเจก และ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะได้เห็นตัวเลือกที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต


แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://www.peta.org/issues/animals-used-for-food/fight-the-climate-crisis/
https://www.nrdc.org/stories/shrink-your-carbon-footprint-ease-dairy
https://waterfootprint.org/en/resources/interactive-tools/product-gallery/
https://vegsoc.org/info-hub/why-go-veggie/environment/
http://earthsave.org/globalwarming.htm
https://www.downtoearth.org/go-veggie/environment/top-10-reasons
https://www.carbonfootprint.com/calculator.aspx


ติดตามสาระห่วงไยสิ่งแวดล้อม 〜
🌐 : greentips.net
Facebook: Bio100Percent
IG: instagram.com/bio100plus
Line: @BIO100
Blockdit : GREENTIPS
🅱logger : GREENTIPS by BIO100

Friday 17 September 2021

น้ำรีไซเคิลรดต้นไม้แล้วจะเป็นไรไหม?

 ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า คนในกรุงเทพและปริมณฑลใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 200 ลิตรเพื่อการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำในครัวเรือนจะอยู่ที่ 723,000 ล้านลิตรในปี 2568 จากปัจจัยความต้องการน้ำในอนาคต ประกอบด้วย จำนวนประชากร ขนาดครัวเรือน รายได้ครัวเรือน ราคาค่าน้ำ และปริมาณน้ำฝน

แหล่งน้ำธรรมชาติมีจำกัด

ความต้องการน้ำแปลผกพันกับความอุดมสมบูรณ์ ทั้งคนและต้นไม้ต่างต้องการน้ำในการดำรงชีวิต เพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลาย ๆ คนจึงเกิดคำถามว่าเราสามารถนำน้ำที่เราใช้แล้ว มารีไซเคิลเพื่อรดต้นไม้ได้หรือไม่ มีกระทู้มากมายแชร์ถึงประโยชน์ของการนำน้ำซักผ้ามารดต้นไม้ ทำให้ต้นเหล่านั้นเติบโตได้ไว ป้องกันแมลง

ในบทความนี้ เราได้รวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะนำน้ำที่เราอุปโภค บริโภคเหลือ มาใช้ซ้ำกับการรดต้นไม้ ทำให้เราประหยัดน้ำ ลดการที่ระบบส่วนกลาง (ของอาคาร ของจังหวัด) ต้องนำน้ำไปบำบัด และยังเป็นการช่วยธรรมชาติอีกทางหนึ่ง

Grey Water น้ำใช้แล้วจากครัวเรือน

ใช้น้ำเหลือจากครัวเรือน

น้ำสุดท้ายที่เหลือจากการซักผ้า อาบน้ำ หรือ ล้างจานนำมารดต้นไม้ได้ ทั้งนี้ไม่รวมน้ำจากโถชำระและท่อระบายจากการประกอบอาหาร ที่อาจประกอบด้วยเชื้อโรค แบคทีเรียที่ยากต่อการกำจัด

ข้อดี

  • ประหยัดค่าน้ำ ประหยัดการใช้น้ำในครัวเรือน
  • ลดมลภาวะจากการจำกัดและบำบัดน้ำ
  • ผลิตภัณฑ์ซักล้างที่เจือจางมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสและไนโตรเจน ซึ่งเป็นช่วยในการสังเคราะห์แสงและสร้างพลังงานให้กับพืช

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรใช้ Grey water กับพืช ผักที่รับประทานสด เพื่อหลีกเลี่ยงสารเจือปนที่อาจเป็นพาหะของโรค
  • บริหารสัดส่วนระหว่างน้ำรีไซเคิล กับ น้ำธรรมชาติอย่างสมดุล หากมีการรดด้วยน้ำเหลือใช้มากเกินไป ดินอาจเกิดปัญหาอุดตัน เนื่องจากปริมาณแร่ธาตุและเกลือที่ผสมมากับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
  • เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรและย่อยสลายได้ในธรรมชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยมลพิษสู่ธรรมชาติ
  • ใช้ Grey water กับพืชภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสะสมของแบคทีเรียและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ส่วนที่ดีที่สุดของพืชที่ควรรด คือ บริเวณที่ใกล้รากที่สุด

Coffee น้ำกาแฟ (หรือกากกาแฟ)

กากกาแฟ และ น้ำกาแฟที่คุณทานไม่หมดก็สามารถใช้เป็นปุ๋ยได้

ข้อดี

  • ตัวกาแฟประกอบด้วยไนโตรเจนประมาณ 2% ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีประโยชน์กับการเจริญเติบโตของพืช
  • ลด food waste

ข้อควรระวัง

  • เจือจางกาแฟทุกครั้งก่อนนำมารดต้นไม้ สัดส่วนกาแฟควรเป็น 1 ส่วน ต่อน้ำ 4 ส่วน
  • กาแฟส่วนมากมักมีสภาพเป็นกรด โดยมี pH ประมาณ 5.2 ถึง 6.9 ขึ้นกับชนิดและกรรมวิธีในการผลิต ดังนั้นจึงควรใช้กาแฟกับพืชที่ชอบความเป็นกรด เช่น กุหลาบ ไฮแดรนเยีย ว่านหางจระเข้
  • กาแฟที่จะนำมารดต้นไม้ ควรเป็นกาแฟผสมน้ำเท่านั้น ไม่ควรนำกาแฟที่ผสมนม น้ำตาล ครีมเทียมมารดต้นไม้
นมเหลืออย่าทิ้ง

Milk นม

นมที่ทานไม่หมด รวมถึงนมที่เกินวันหมดอายุที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์แต่ยังไม่เน่าเสีย สามารถนำมารดต้นไม้ได้

ข้อดี

  • ในนม มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช และ สารฆ่าเชื้อซึ่งช่วยในการฆ่าแมลง
  • ในนม มีแคลเซียมสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างผนังเซลให้กับพืช ทำให้พืชเติบโตและมีอายุยืนยาว
  • ในนม มีโปรตีน น้ำตาล และ วิตามินบี ซึ่งเป็นส่วนช่วยหลักในออกดอก ออกผลของพืช
  • ลด Food Waste

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรใช้นมผง หรือ น้ำผสมนมผงรดต้นไม้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดโรคพืช เช่น โรคใบจุดพืช
  • เจือจางนมทุกครั้งก่อนนำมารดต้นไม้ สัดส่วนนม ควรเป็น 1 ส่วน ต่อน้ำ 1 ส่วน เพราะนมมีส่วนประกอบของไขมัน ซึ่งสามารถไปอุดกั้นการดูดซึมน้ำของพืช
  • การรดต้นไม้ด้วยนมมากเกินไป อาจเกิดกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ ซึ่งเกิดจากการเน่าเสียของไขมันในนม

Water from Washing Rice นำ้ซาวข้าว

น้ำที่เหลือจากการล้างข้าว หรือ หุงข้าวช่วยบำรุงพืชได้

ข้อดี

  • น้ำข้าวช่วยเสริมสร้างคาร์โบไฮเดรต หรือ น้ำตาลโมเลกุลคู่ให้กับพืช แบคทีเรียในดินสามารถเปลี่ยนน้ำตาลเหล่านี้ให้เป็นสารอาหารที่พืชจะกักเก็บไว้ได้
  • น้ำข้าว มีแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม ที่ล้วนมีประโยชน์กับการเจริญเติบโตของพืช

ข้อควรระวัง

  • น้ำซาวน้ำที่รดลงบนพืช ควรมีอุณหภูมิห้อง ระวังการใช้น้ำร้อน เพราะ อุณหภูมิร้อนอาจทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในดิน

จะเห็นได้ว่า นอกจากน้ำธรรมชาติ ยังมีน้ำรีไซเคิลทางเลือกมากมาย ที่อาจมีประโยชน์กับพืช และ กระเป๋าสตางค์ของคุณ หากแต่จะต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเลือกใช้

เราเริ่มได้จากสิ่งที่ง่ายและก็เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเราก่อน อาจเริ่มจากกากกาแฟดริป หลังจากที่เราชงดื่ม หรือไม่ก็น้ำซาวข้าว เราใส่ถังเก็บไว้เพื่อนำไปรดต้นไม้ ประหยัดทั้งเงิน งามทั้งต้นไม้ :)

โพสต์เด่น

10 ไม้ยืนต้นออกดอกสวย

มาสู้โลกร้อนกันด้วยการ ปลูกต้นไม้ในบ้านกัน นอกจากลดการใช้พลังงานฟอสซิล หันมาใช้พลังงานสะอาด ก็คือช่วยการปลูกต้นไม้ 🌳 🌿 🌱 เพิ่มพื้นท...

โพสต์น่าสนใจ