Showing posts with label รีไซเคิล. Show all posts
Showing posts with label รีไซเคิล. Show all posts

Tuesday 19 October 2021

ทำไร่ทำนา + ปลูกป่าผสม = วนเกษตร

ระบบ วนเกษตร หรือ Agro-Forestry เป็นศาสตร์ของการจัดการทรัพยากรในพื้นที่เพาะปลูก (Land resouce managemeng) อย่างเป็นระบบ โดยผสมผสาน การทำป่าไม้ (Forestry) การเพาะปลูกพืช (Agriculture) การทำปศุสัตว์ และการประมงเลี้ยงสัตว์น้ำ Animal husbandry, Aquaculture & Fisheries หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการทำการเกษตรโดยรวมหลากหลายชนิดของพืชและสัตว์มาไว้ในผืนดินเดียวกัน อย่างเหมาะสมและมีความสมดุล เพื่อให้ระบบมีความคล้ายคลึงกับระบบนิเวศน์ป่าทางธรรมชาติ ที่ความซับซ้อนและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยผลผลิตจากพืชและสัตว์ที่เกิดขึ้น จะเป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรในดิน ในธรรมชาติบริเวณนั้นแบบองค์รวม เกิดผลผลิตหลากหลาย และหมุนเวียนธาตุอาหาร ให้สมดุลและมีเสถียรภาพและความยั่งยืนระยะยาว โดยสรุป การทำเกษตรแบบวนเกษตร ที่ดีจะช่วยเพิ่มความสามารถของผืนดินในการซึมซับน้ำ การรักษาน้ำใต้ดิน และลดการสูญเสียหน้าดิน

agro-forestry ประโยชน์จากใบไม้ที่ร่วงหล่น ของไม้ใหญ่
ปลูกไม้ใหญ่ควบคู่กับการทำไร่ | เครดิตภาพ : tunza.eco-generation.org

วนเกษตร หรือที่ถ้าเรียกให้เข้าใจชัดขึ้นว่า ระบบไร่นาป่าผสม มีความหมายตรงตัวคือ การทำเกษตรกรรม ทำไร่ทำนาหรือปลูกพืชไร่ (หรือไม้ชั้นล่าง) ควบคู่ไปกับการปลูกไม้ยืนต้นหนาแน่น จนดูคล้ายนิเวศน์ธรรมชาติของป่า ไม่ว่าจะเป็นปลูกไม้ผลหรือไม้ใช้สอย (โดยปลูกไม้ช้ันบนนี้ในหลายชั้นความสูง ลดหลั่นกันไป) โดยมีการผสมผสานกับการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร หรือไม้พุ่มเตี้ย

โดยไม้ชั้นบนที่ใช้ควรมีกิ่งก้านแผ่ขยายออกเป็นวงกว้าง สามารถให้เป็นที่กำบัง ลดความรุนแรงของเม็ดฝนที่ตกกระทบผืนดิน ช่วยบังพายุ ฝน รวมทั้งควบคุมสภาพความชุ่มชื้นและอุณหภูมิ
ขณะที่ ไม้ชั้นล่าง ที่มีการปลูกแบบเป็นแปลงหมุนเวียน ให้ทั้งผลผลิตระยะสั้นแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ไม้ชั้นล่างที่เลือกปลูกภายใต้ร่มเงาไม้ปกคลุม ควรเป็นพืชที่ไม่ต้องการแสงแดดมาก และสามารถรับประโยชน์จากความชื้นสูงจากการที่มีไม้ผล ไม้ยืนต้น (ไม้ชั้นบน) คอยเป็นกำบังแสงแดดรุนแรงให้

โดยเราแบ่งไม้ชั้นบนที่จะปลูกในแต่ละชั้นความสูง ตามระดับของแสงแดดที่ไม้แต่ละชนิดต้องการ เพื่อสามารถกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสม  

  • พืชที่ต้องการแสงมาก พวกไม้ยืนต้น หรือไม้ใช้สอย เช่น สัก ประดู่ ยางนา หรือ ไม้ผล พวก หมาก มะพร้าว
  • พืชที่ต้องการแสงปานกลาง พวกไม้ผล เช่น มะม่วง มังคุด ทุเรียน ขนุน

และในกรณีที่พื้นดินมีขนาดกลางถึงใหญ่ การเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ การเลี้ยงเป็ดไก่ เลี้ยงปลาในนาข้าว หรือขุดบ่อปลา จะกระทั่งเลี้ยงหู หรือวัวควายในพื้นที่ กรณีที่พื้นที่เพียงพอ จะยิ่งช่วยพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มศักยภาพของดินและประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิต แถมยังสร้างความมั่นคงในเชิงเศรษฐกิจ จากการมีผลิตผลหลากหลาย ตอบโจทย์ทั้งการใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่เอง หรือการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้

จากนิยามข้างต้น เราจะห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญอันดับแรกของ วนเกษตร ก็คือการมีไม้ยืนต้นปลูก "หนาแน่น" ให้เพียงพอกับความเป็น 'ป่า" ธรรมชาติ เพื่อสร้างนิเวศน์ป่าในพื้นที่การเกษตร

ปัจจัยบวกของการมีไม้ยืนต้นในแปลงเกษตร

  1. ไม้ยืนต้น ไม่ว่าจะเป็นไม้ผลหรือไม่ใช้สอย เป็นตัวเพิ่มรายได้ให้กับเกษตกร ในระยะยาว
  2. เป็นตัวช่วยให้เกษตรกรมี "ไม้" ไว้ใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น เป็นไม้ฟืน ไม้ค้ำยัน ไม้สร้างบ้าน โดยไม่ต้องเสียเงินไปหาซื้อ
  3. ต้นไม้ใหญ่รีไซเคิลธาตุอาหารได้มาก จากการดูดซับสารอาหารจากสภาพแวดล้อม แปรสภาพเป็นลำต้น กิ่งก้าน และใบไม้ที่ร่วงหล่น ซึ่งที่สุดก็สลายคืนสู่ดินกลายเป็นปุ๋ยชีวภาพ
  4. ระบบนิเวศน์ไม้ใหญ่ดึงดูดสัตว์เล็กนกกาเข้ามาอยู่อาศัย เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศน์ ลดการใช้ปู๋ย ยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดศัตรู
  5. ไม้ใหญ่ช่วยกำบังลม และแสงแดด ลดการเกิดของวัชพืช

เงื่อนไขพื้นฐานของการเลือกพันธ์ไม้ยืนต้นในระบบวนเกษตร

  • ควรเลือกพันธ์ไม้ที่ไม่ต้องการน้ำมากเกินไป จนแย่งน้ำของพืชตัวหลัก
  • ควรเลือกพันธ์ไม้ที่มีระบบรากไชลึก เพื่อจะได้ชอนไชลงหานำ้จากแกล่งใต้ดินชั้นลึก
  • ควรเลือกพันธ์ไม้ที่กิ่งก้านแผ่ขยายและแตกใบค่อนข้างโปร่ง เพื่อให้แสงแดดสามารถส่องลงไปสู่ไม้ชั้นล่างได้
  • ควรเลือกพันธ์ไม้โตเร็ว โดยเฉพาะพันธ์ไม้ใช้สอย เพื่อให้ช่วงที่ปลูกโตจนพร้อมใช้ และลงปลูกใหม่ ใช้เวลาไม่นานนกั
  • ควรเลือกพันธ์ไม้ไม่"แย่ง"ธาตุอาหารจากพืชหลัก แต่เพิ่มเติมธาตุอาหารให้ผืนดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว ที่มีใบย่อยสลายง่าย มีธาตุไนโตรเจนสูง ฟื้นสภาพดินได้รวดเร็ว

วนเกษตร มีทางเลือกในการปฏิบัติทางการเกษตรแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น และสภาพพื้นที่ โดยนักวิชาการได้จัดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 5 ประเภท ดังนี้

  1. วนเกษตรแบบบ้านสวน การปลูกไม้ป่าผสมในลักษณะนี้ จะมีต้นไม้และพืชผลหลายชั้นความสูง โดยเน้นปลูกไม้ผล ที่ให้ผลประเภทกินได้ และไม้สำหรับใช้สอยในครัวเรือน เพื่อเป็นไม้ฟืนและถ่าน และพืชสมุนไพรและผักสวนครัว วนเกษรประเภทนี้ เหมาะกับเกษตรกรที่มีพื้นที่ในการปลูกไม่มาก เช่น พื้นที่สวนหลังบ้าน
  2. วนเกษตรที่มีต้นไม้แทรกในไร่นา หรือทุ่งหญ้า เหมาะกับพื้นที่ซึ่งมีลักษณะสูงๆ ต่ำๆ โดยปลูกต้นไม้เสริมในที่ที่ไม่เหมาะสมกับพืชผล เช่น ที่เนิน หรือที่ลุ่มน้ำขัง และปลูกพืชในที่ราบ หรือที่ไม่สม่ำเสมอ
  3. วนเกษตรที่มีต้นไม้ล้อมนาไร่ การปลูกต้นไม้ล้อมพื้นที่นาข้าว และที่ราบลุ่มปลูกพืชไร่ ที่ซึ่งมีลมแรง และพืชผลมีโอกาศได้รับความเสียหายจากลมพายุอยู่เสมอ การปลูกต้นไม้โตเร็วยืนต้นรอบคันนา ยังเพิ่มความชุ่มชื้น บังแดดบังลมให้กับนาข้าวด้วย ผลผลิตไม้ก็สามารถนำมาใช้สอยในครัวเรือน เป็นถ่านเป็นฟืน
  4. วนเกษตรที่มีแถบต้นไม้และพืชผลสลับกัน เหมาะกับพื้นที่ที่มีความลาดชันเป็นแนวยาวน้ำไหลเซาะหน้าดินมาก แถบต้นไม้ซึ่งปลูกไว้สองถึงสามแถวสลับกับพืชผลเป็นช่วงๆ ปลูกขวางความลาดชัน จะช่วยรักษาหน้าดิน และในระยะยาวจะทำให้เกิดขั้นบันไดดินแบบธรรมชาติให้กับพื้นที่ สำหรับแถบพืช อาจมีความกว้าง 5-20 เมตร ตามความเหมาะสมของพื้นที่
  5. วนเกษตรที่ใช้พื้นที่หมุนเวียนปลูกไม้ยืนต้น พืชผล และเลี้ยงสัตว์ เหมาะกับพื้นที่ที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่พอที่จะปลูกพืชผลเป็นแปลงหมุนเวียน โดยมีแปลงไม้ยืนต้นร่วมกับการเลี้ยงสัตว์แบบหมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดิน

ระบบ วนเกษตร นอกจากจะเป็นแนวทาง ในการทำเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างยั่งยืน ตามนิยามข้างต้นแล้ว วนเกษตร ยังรวมถึงทำป่าไม้ผสมผสานร่วมกับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ในบริเวณชายขอบระหว่าที่ดินเกษตรกร และรอยต่อที่ดินติดกับป่าด้วย หรืออาจเป็นการปลูกพืชเกษตร หรือการปลูกพืชเกษตรร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ในสวนป่า โดยเฉพาะที่กระทำโดยราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายขอบป่า ในเขตอ่อนไหว ซึ่งอาจเป็นทางออกที่ประณีประนอมสำหรับการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างความต้องการที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและความต้องการรักษาป่าไม้เพื่อควบคุมสภาพสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีของคนและป่าสามารถดำเนินควบคู่กัน ไปโดยคำนึงถึงสภาพทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรที่เกี่ยวข้อง

Agro-Forestry System | ที่มาภาพ : Forestrypedia.com

***มันอาจจะเป็นทางออกสุดท้ายของการเพิ่มปริมาณต้นไม้ของมนุษย์ ทดแทนการที่ป่าถูกทำลายจากการบริโภคและตัดไม้ทำลายป่า


แหล่งอ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ:
https://tunza.eco-generation.org/m/index.jsp
https://www.opsmoac.go.th/km-km_org_center-files-401591791808
https://www.matichon.co.th/sme/news_95430
https://www.naewna.com/local/400766
http://www.nawachione.org/2012/10/29/sustainable-agriculture/
http://ecoursesonline.iasri.res.in/mod/page/view.php?id=14511
https://forestrypedia.com/agroforestry-system-detailed-note/
https://en.wikipedia.org/wiki/Agroforestry


ติดตามสาระห่วงไยสิ่งแวดล้อม 〜
🌐 : greentips.net
Facebook: Bio100Percent
IG: instagram.com/bio100plus
Line: @BIO100
Blockdit : GREENTIPS
🅱logger : GREENTIPS by BIO100

Friday 24 September 2021

native trails - innovative packaging


📍สินค้าน่าทึ่งรักษ์โลก 💚 🌏 แบบแท้ทรู ใช้เป็นจานหรือภาชนะใส่ของ น้ำหนักเบา ย่อยสลายได้ 100% ตัวจานอัดมาจากใบเซียลี (Siali) อบแห้ง ใบไม้สีเขียวหนามีเส้นใยแข็งแรง จากต้นเซียลี ไม้พุ่มที่พบในป่าแถบ Odisha รัฐทางแถบตะวันออกของอินเดีย ...

แพ็กกิ้งใช้กระดาษแข็ง 4 แผ่นสอดไขว้กันและผูกด้วยเชือก ที่ทั้งหมดทำมาจากลำต้นของมัน ออกแบบให้เป็นทั้งตัวล็อคและเป็นมือจับในตัว ... ผลลัพธ์เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ดูงดงามแบบดิบ แต่ดูเรียบหรูเก๋ ดีไซน์ทันสมัยเข้ายุดสมัย ... ไม่รู้ทำออกจำหน่ายหรือยัง ?
 

ℹ️ ถ้าอยากรู้ ลองติดต่อกับ Designer เขาเอง ทาง website ด้านล่างครับ .. ขออนุญาติแชร์เพื่อเป็น Be Inspired ครับ 😇

📍https://submit.packagingoftheworld.com/contact/

Wednesday 22 September 2021

แฟชั่นทำร้ายโลกหรือเปล่า ?

งดรับถุงหรือเลิกแต่งตัว (อะไรช่วยโลกได้มากกว่า)

บรรจุภัณฑ์พลาสติก

ปัจจุบัน การตะหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมคงเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วกัน และพวกเราส่วนมากก็คงมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่มากก็น้อย เลือกบริโภคแบรนด์สินค้าและสนับสนุนกิจการของแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแน่นอนการ เลือกบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ก็ดูเหมือนเป็นตัวเลือกต้นๆ ที่พวกเราถือปฎิบัติกัน ในเชิงการตลาด สินค้าแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ต่างรู้แนว หันมารับลูก อย่างร้านสะดวกซื้อเชนยักษ์ 7-11 ก็งดแจกถุงพลาสติก ให้กับลูกค้าที่แวะเพื่อซื้อสินค้า"สะดวกซื้อ" สะดวกรับประทานกัน แต่ตอนนี้(อาจ)ไม่ได้สะดวกถือ ทำเอาลูกค้าต้องลำบากขึ้น หอบของกินหลายไซส์พะรุงพะรัง (คือมันไม่เหมือนไปช๊อปปิ้ง ที่เราไปห้างๆ และก็เตรียมตัวนำถุงผ้าไปซือของจริงจัง

ร้านกาแฟรุ่นใหญ่ Starbucks / true coffee ก็สนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วกาแฟมาจากบ้าน มีส่งเสริมการขาย สร้างแรงจูงใจด้วยการลดราคา เทรนด์นี้ทั้งร้านเล็กใหญ่ ก็ตามกันมา … Amazon Coffee ของ ปตท ก็เอากับเขา แถมไปต่ออีกด้วยการเปลี่ยนมาใช้ eco-cup ย่อยสลายได้ หรือ พี่สตาร์บัคส์ไม่อาจน้อยหน้าด้วยการเลิกใช้หลอดพลาสติก แต่หันมาให้หลอดกระดาษแทน ว่ากันตามจริง ก็ไม่ค่อยเหมาะกับการดูดเครื่องดื่มเย็นสักเท่าไหร่ เพราะกระดาษจะยุ่ยและก็ทำให้เครื่องดื่มมีกลิ่นรสแปลกไป

จากสายรีเทลมาโรงพยาบาลทั้งรัฐทั้งเอกชน ต่างงดถุงพลาสติกหรือไม่ก็แจกถุงผ้าถุงกระดาษ เอาตามจริง พอไปหาหมอบ่อยเข้า ก็รู้สึกว่าไม่ช่วยเท่าไหร่ เราเริ่มมีถุง(ใช้ซ้ำได้)มากขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร คือถุงพลาสติกกร็อบแกร็บยังเอาใส่ขยะในครัวได้ ไม่ก็ไว้ซ้อนถังผงในบ้าน แต่ถุงกระดาษนี่ทำได้แต่ซ้อนไว้ชั่งกิโลขาย แถมมีความรู้สึกว่า ถุงกระดาษใบหนึ่งผลิตขึ้นมาก็น่าจะมี carbon footprint ไม่น้อย

สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า - ธุรกิจสิ่งทอ)

เสื้อผ้าแฟชั่นก็ตามมา ล่าสุด Uniqlo เตรียมงดให้ถุงพลาสติกสีขาวใบเขื่อง และยังทำโครงการ เช่นตั้งกล่องรับบริจาคเสื้อเก่า นำไปคัดแยกเป็นหมวดหมู่ที่ตรงความต้องการของผู้รับ เพื่อให้นำไปใช้ได้จริง หรือการพัฒนากระบวนการผลิตให้ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการฟอกยีนส์ด้วยวิธีโอโซน หรือการแต่งผิวด้วยเลเซอร์

Fashion Items ราคาถูงลง (ทุกคนเข้าถึงได้) น่าจะเป็นเรื่องดี

ความตั้งใจที่ดี กับความพยายามริเริ่มเป็นเรื่องที่ดี ต่างคนต่างทำเท่าที่ทำได้ สิ่งแวดล้อมของเราก็น่าจะค่อยๆดีขึ้น แต่ปัญหาของเรามันก็ใหญ่เสียเหลือเกิน คือมันหนักหนาสะสม แบบที่ว่าเราต้องลดการปล่อยก๊าซ CO2 ให้ได้ 2.6หมื่นตันทุกๆ 2 ปี ต่อเนื่องไปอีกหนึ่ง(1) ทศวรรษ ถึงจะส่งผลอย่างมีนัยยะ ให้ภาวะโลกร้อนดีขึ้น

ไม่น่าเชื่อว่า สินค้าแฟชั่นเป็นปฎิปักษ์ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก มีการประเมินกันว่า อุตสาหกรรมนี้เพียงตัวเดียว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นกว่า 10% ของ CO2 ทั้งหมดที่มนุษย์เราทำให้เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น น้ำถูกใช้ในกระบวนการผลิตเป็นปริมาณมหาศาล รู้หรือไม่ว่าเราต้องใช้น้ำถึง 2700 ลิตรเพื่อผลิดเสื้อคอตต้อน 1 ตัว (ปกติมนุษย์เราดื่มน้ำเฉลี่ยวันละ 8 แก้ว แปลว่าการผลิตเสื้อตัวเดียว ต้องใช้น้ำมากขนาดที่คนหนึ่งคนไป 3.5 ปีเลย) ว่ากันที่จริง มีการประเมินว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอใช้น้ำมากเป็นที่ 2 เมื่อเทียบกับการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมดของมนุษย์ชาติ

ยังไม่นับถึงสารเคมีมากชนิดที่ใช้ในการผลิต กระบวนการส่วนใหญ่ก็ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้นเหตุของการปล่อยสาร CO2 แถมด้วยNO NO2 SO2และออกไซด์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาในขั้นตอนอื่นๆอีก ไม่ว่าจะเป็นการทอฟอกย้อม สุดท้ายปลายทาง โรงงานก็ปล่อยทิ้งน้ำเสียจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็มีโลหะหนักเจือปนตกต้าง อาทิปรอท ตะกั่ว สารหนู แต่ที่หนักหนาสาหัสกัน เพราะสินค้าแฟชั่นเหล่านี้ ส่วนใหญ่ผู้ผลิตในประเทศที่มีค่าแรงตำ่อย่าง จีน อินเดีย บังคลาเทศ ที่การควบคุมโดยหน่วยงานรัฐไม่เข้มงวด ทำให้น้ำเสียถูกปล่อยทิ้งไปโดยไม่ผ่านการบำบัดน้ำเสียที่ถูกหลักวิชาการ และเหมาะสม เพื่อช่วยลดค่าของเสียให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก่อนปล่อยออกแม่น้ำ คูคลองสาธารณะ ทำให้ในที่สุดน้ำเสียจำนวนมากก็ถูกทิ้งออกสู่ทะเลและมหาสมุทร

จนมีคำกล่าวว่าอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างมลภาวะมากที่สุดของโลก

เทรนด์ล่าสุดของโลกแฟชั่น อย่างการที่เราหันมาใส่เสื้อผ้า fast & casual ใช้เสื้อผ้าเรียบง่าย ราคาไม่แพง ดันให้การบริโภคเสื้อผ้าใหม่ กระโดดขึ้นเป็นเท่าตัว แทบจะทุกปี ตั้งแต่ปี 2000 อุปสงค์ที่ถูกเร้าจากราคาถูก สไตล์เรียบง่าย (ร่วมส่งเสริมกันถ้วนหน้าโดยวงการแฟชั่นที่ต่างออกคอลเล็คชั่นเนื้อผ้าหรือสไตล์ใหม่เพิ่มขึ้น จากเดิมปีละ 2 ชุด เป็น 5 ชุดโดยเฉลี่ย) ทำให้เราซื้อเสื้อผ้าเพิ่มกันถึง 60% ต่อคนต่อปี ประเมินกันว่าพวกเราชาวโลก 8พันล้าน (8,000,000,000) คน ใช้เสื้อผ้าใหม่กันมากถึงปีละ 8หมื่นล้าน (80,000,000,000) ตัวกันทีเดียว

The waters of the River Ganges (Image: .iberdrola.com)

และเสื้อผ้าแนวใหม่ราคาย่อมเยานี้ ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากเส้นใยสังเคราะห์จากกระบวนการปลายน้ำของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่ว่าจะเป็นไนล่อน โพลีเยสเตอร์ หรือเส้นใยชื่ออ่านยากอีกหลายตัว ซึ่งที่เราอาจนึกไม่ถึง ก็คือการซักผ้า ยิ่งเรามีเสื้อผ้าใช้เยอะ (ใส่หลายตัว หลายชิ้น หรือเปลี่ยนบ่อยๆ ตามแต่กิจกรรมของแต่ละช่วงวัน) พอเรานำไปซัก น้ำซักผ้าจะชะล้างคราบสกปรกและปล่อยไมโครพลาสติก (microfibers) ออกมาจำนวนหนึ่ง อย่างเสื้อใยสังเคราะห์หนึ่งชุดจะปล่อย microfiber 1.7 gram ออกมากับน้ำที่ซักล้าง และประมาณ 40%ของพลาสติกพวกนี้ สุดท้ายก็ไหลลงคลองสาธารณะและปลายทางที่มหาสมุทร ถูกกินโดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋ว ถูกกินโดยปลาเล็ก และก็ปลาใหญ่ เป็นทอดๆกันไป จนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ของพวกเราชาวมนุษย์ในที่สุด มีการคำนวณว่าน้ำซักผ้าทั้งหมดในโลก เป็นตัวการปล่อยไมโครพลาสติกออกสู่มหาสมุทรรวมกันต่อปี ในปริมาณมากถึง 500,000ตัน หรือเทียบเท่ากับ ขวดพลาสติก 5หมื่นล้าน (50,000,000,000) ใบทีเดียว แน่นอน การมีเสื้อผ้าให้เลือกใส่มากขึ้น ทำให้เราเปลี่ยนคอลเล็คชั่นส่วนตัวบ่อยขึ้น เสื้อผ้่ที่เราไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่หมด เราก็ต้องนำมันทิ้งไป ซึ่งในแต่ละวัน จะมีเสื้อผ้าถูกนำไปทิ้งในปริมาณเท่ากับ1 คันรถดัมพ์ต่อวินาทีกันเลย

หลายปีมานี้ ปัญหานี้ มีการหยิบยกมา และวงการเสื้อผ้า(อุตสาหกรรมแฟชั่น)ก็ตื่นตัว พยายามปรับตัว และริเริ่มกันตั้งแต่ปี 2019

  1. มีการประชุมร่วมกัน และรวมกลุ่มกันทำข้อตกลง ที่จะลดการปล่อยก๊าซ ปรับปรุงกระบวนการตั้งแต่วัตถุดิบ ระบบการผลิตไปจนถึงโลจิสติกส์ เป้าหมายคือลดการปล่อยก็าซให้ได้ 30% ภายในปี 2030 มีการ(กำหนดเป้าหมายระหว่างอุตสาหกรรม)
  2. ร่วมกันใช้พลังงานสะอาด ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ที่สร้างมลภาวะมากกว่า
  3. สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อหาวัตถุดิบที่ดีต่อโลกมากขึ้น ลดการใช้เส้นใยทอขึ้นใหม่ (virgin material) หรือวัตถุดิบสังเคราะห์จากปิโตรเคมี รวมถึงหาทางนำวัตถุรีไซเคิลมาใช้เป็นตัวเลือกให้มากขึ้น
  4. ร่วมมือกับผู้ให้บริการขนส่ง ชิปปิ้ง ซึ่งธุรกิจสิ่งทอเป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่อันดับต้นๆ ผลักดันให้วงการสายเรือ ปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซในการเดินเรือทะเล

น่าเสียดาย ผ่านไป 2 ปี ตั้งแต่กำหนดเป้าหมายร่วมกัน องค์กร Stand.Earth เพิ่งประกาศ Fossil-Free Fashion Scorecard หลังประเมิน 47 แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก พบว่าความพยายามทำตามข้อตกลง ค่อนข้างล้มเหลว …. กว่าสามในสี่หรือ 75% ของผู้ร่วมประชุมได้รับคะแนน เกรด F คือสอบตกไม่เป็นท่า … ลองดูตัวอย่างแบรนด์ใหญ่ที่เราคุ้นเคยกัน

NIKE ที่ได้เกรด C+) เขาทำงานกับโรงงานให้เปลี่ยนแหล่งจ่ายพลังงานให้ความร้อน พยายามลดการใช้ เชื้อเพลิงถ่านหินมากใช้พลังสะอาดให้มากขึ้น หรืออย่างการมีเป้าหมายชัดเจน พร้อมแผนปฎิบัติการให้ทั้งฝ่ายผลิตและขนส่ง โดยลงมือทำงานกับโรงงานหลายแห่ง จับเชื่อมต่อกับ ผู้จำหน่าย พลังงานสะอาด ทั้ง US / EU

LEVI's มีการตั้งเป้าหมาย ทำแผนชัดเจน ลงไปถึงระดับโรงงานผลิตเช่นกัน พร้อมมีเงื่อนไขการให้แรงจูงใจ และแผนการช่วยเหลือด้านการเงิน แต่ยังไม่มีความชัดเจนในแผนปรับปรุงเรื่องขนส่ง ทางลีวายส์ก็เลยได้เพียง เกรด C

ยังนับว่าสอบผ่าน ไม่ถึงกับต้องซ้ำชั้น แต่ก็ยังไม่อาจนับว่าทำได้ดี เพราะได้แค่ C/C+

เราในฐานะผู้บริโภค เริ่มที่ตัวเรา ขอเพียงเริ่มต้น ไม่ต้องรอใคร

  • ลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ ใช้ของเดิมที่อยู่ล้นตู้ให้นานขึ้น
  • ซื้อเสื้อผ้ามีคุณภาพ เน้นความคงทน ใช้งานได้นาน
  • สนับสนุนแบรนด์ที่มีนโยบายใส่ใจสิ่งแวดล้อม
  • ใช้เสื้อผ้าซ้ำ อย่างเสื้อคลุมภายนอก อย่างสูท แจ็กแก็ต ก่อนนำไปซัก
  • คิดเยอะๆก่อนทิ้งเสื้อผ้าเก่า เช่น ซ่อม ดัดแปลง บริจาค ขายต่อให้ร้านมือสอง
  • ซื้อจากร้านมือสอง แลกกัน หรือ เช่า **

หมายเหตุ:

** ธุรกิจหลายอย่างจากความพยายามจากกลุ่มคนที่เห็นปัญหาและหาทางออก ที่เป็นทางเลือกช่วยจัดการกับเสื้อผ้าใช้แล้ว แต่ยังมีคุณค่า หลายกิจการมีแผนธุรกิจชัดเจน และมีโอกาสทางการตลาดและมี เช่น RentTheRunWay ที่นำเสื้อผ้าใส่ออกงานมาให้เช่าใช้ หรือ VINTED ที่อังกฤษ และ TokyoCheapo


ที่มาของข้อมูล

Internation Labour Organization
Greenofchange.com
IBERDROLA
SustainYourStyle.org
Stand.Earth
FastCompany
EcoTextile.com
GreenQueen


ติดตาม GreenTips ได้ทุกช่องทาง
🌐 : greentips.net
Facebook: Bio100Percent
Line: @BIO100
IG: instagram.com/bio100plus

Friday 17 September 2021

น้ำรีไซเคิลรดต้นไม้แล้วจะเป็นไรไหม?

 ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า คนในกรุงเทพและปริมณฑลใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 200 ลิตรเพื่อการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำในครัวเรือนจะอยู่ที่ 723,000 ล้านลิตรในปี 2568 จากปัจจัยความต้องการน้ำในอนาคต ประกอบด้วย จำนวนประชากร ขนาดครัวเรือน รายได้ครัวเรือน ราคาค่าน้ำ และปริมาณน้ำฝน

แหล่งน้ำธรรมชาติมีจำกัด

ความต้องการน้ำแปลผกพันกับความอุดมสมบูรณ์ ทั้งคนและต้นไม้ต่างต้องการน้ำในการดำรงชีวิต เพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลาย ๆ คนจึงเกิดคำถามว่าเราสามารถนำน้ำที่เราใช้แล้ว มารีไซเคิลเพื่อรดต้นไม้ได้หรือไม่ มีกระทู้มากมายแชร์ถึงประโยชน์ของการนำน้ำซักผ้ามารดต้นไม้ ทำให้ต้นเหล่านั้นเติบโตได้ไว ป้องกันแมลง

ในบทความนี้ เราได้รวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะนำน้ำที่เราอุปโภค บริโภคเหลือ มาใช้ซ้ำกับการรดต้นไม้ ทำให้เราประหยัดน้ำ ลดการที่ระบบส่วนกลาง (ของอาคาร ของจังหวัด) ต้องนำน้ำไปบำบัด และยังเป็นการช่วยธรรมชาติอีกทางหนึ่ง

Grey Water น้ำใช้แล้วจากครัวเรือน

ใช้น้ำเหลือจากครัวเรือน

น้ำสุดท้ายที่เหลือจากการซักผ้า อาบน้ำ หรือ ล้างจานนำมารดต้นไม้ได้ ทั้งนี้ไม่รวมน้ำจากโถชำระและท่อระบายจากการประกอบอาหาร ที่อาจประกอบด้วยเชื้อโรค แบคทีเรียที่ยากต่อการกำจัด

ข้อดี

  • ประหยัดค่าน้ำ ประหยัดการใช้น้ำในครัวเรือน
  • ลดมลภาวะจากการจำกัดและบำบัดน้ำ
  • ผลิตภัณฑ์ซักล้างที่เจือจางมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสและไนโตรเจน ซึ่งเป็นช่วยในการสังเคราะห์แสงและสร้างพลังงานให้กับพืช

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรใช้ Grey water กับพืช ผักที่รับประทานสด เพื่อหลีกเลี่ยงสารเจือปนที่อาจเป็นพาหะของโรค
  • บริหารสัดส่วนระหว่างน้ำรีไซเคิล กับ น้ำธรรมชาติอย่างสมดุล หากมีการรดด้วยน้ำเหลือใช้มากเกินไป ดินอาจเกิดปัญหาอุดตัน เนื่องจากปริมาณแร่ธาตุและเกลือที่ผสมมากับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
  • เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรและย่อยสลายได้ในธรรมชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยมลพิษสู่ธรรมชาติ
  • ใช้ Grey water กับพืชภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสะสมของแบคทีเรียและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ส่วนที่ดีที่สุดของพืชที่ควรรด คือ บริเวณที่ใกล้รากที่สุด

Coffee น้ำกาแฟ (หรือกากกาแฟ)

กากกาแฟ และ น้ำกาแฟที่คุณทานไม่หมดก็สามารถใช้เป็นปุ๋ยได้

ข้อดี

  • ตัวกาแฟประกอบด้วยไนโตรเจนประมาณ 2% ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีประโยชน์กับการเจริญเติบโตของพืช
  • ลด food waste

ข้อควรระวัง

  • เจือจางกาแฟทุกครั้งก่อนนำมารดต้นไม้ สัดส่วนกาแฟควรเป็น 1 ส่วน ต่อน้ำ 4 ส่วน
  • กาแฟส่วนมากมักมีสภาพเป็นกรด โดยมี pH ประมาณ 5.2 ถึง 6.9 ขึ้นกับชนิดและกรรมวิธีในการผลิต ดังนั้นจึงควรใช้กาแฟกับพืชที่ชอบความเป็นกรด เช่น กุหลาบ ไฮแดรนเยีย ว่านหางจระเข้
  • กาแฟที่จะนำมารดต้นไม้ ควรเป็นกาแฟผสมน้ำเท่านั้น ไม่ควรนำกาแฟที่ผสมนม น้ำตาล ครีมเทียมมารดต้นไม้
นมเหลืออย่าทิ้ง

Milk นม

นมที่ทานไม่หมด รวมถึงนมที่เกินวันหมดอายุที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์แต่ยังไม่เน่าเสีย สามารถนำมารดต้นไม้ได้

ข้อดี

  • ในนม มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช และ สารฆ่าเชื้อซึ่งช่วยในการฆ่าแมลง
  • ในนม มีแคลเซียมสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างผนังเซลให้กับพืช ทำให้พืชเติบโตและมีอายุยืนยาว
  • ในนม มีโปรตีน น้ำตาล และ วิตามินบี ซึ่งเป็นส่วนช่วยหลักในออกดอก ออกผลของพืช
  • ลด Food Waste

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรใช้นมผง หรือ น้ำผสมนมผงรดต้นไม้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดโรคพืช เช่น โรคใบจุดพืช
  • เจือจางนมทุกครั้งก่อนนำมารดต้นไม้ สัดส่วนนม ควรเป็น 1 ส่วน ต่อน้ำ 1 ส่วน เพราะนมมีส่วนประกอบของไขมัน ซึ่งสามารถไปอุดกั้นการดูดซึมน้ำของพืช
  • การรดต้นไม้ด้วยนมมากเกินไป อาจเกิดกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ ซึ่งเกิดจากการเน่าเสียของไขมันในนม

Water from Washing Rice นำ้ซาวข้าว

น้ำที่เหลือจากการล้างข้าว หรือ หุงข้าวช่วยบำรุงพืชได้

ข้อดี

  • น้ำข้าวช่วยเสริมสร้างคาร์โบไฮเดรต หรือ น้ำตาลโมเลกุลคู่ให้กับพืช แบคทีเรียในดินสามารถเปลี่ยนน้ำตาลเหล่านี้ให้เป็นสารอาหารที่พืชจะกักเก็บไว้ได้
  • น้ำข้าว มีแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม ที่ล้วนมีประโยชน์กับการเจริญเติบโตของพืช

ข้อควรระวัง

  • น้ำซาวน้ำที่รดลงบนพืช ควรมีอุณหภูมิห้อง ระวังการใช้น้ำร้อน เพราะ อุณหภูมิร้อนอาจทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในดิน

จะเห็นได้ว่า นอกจากน้ำธรรมชาติ ยังมีน้ำรีไซเคิลทางเลือกมากมาย ที่อาจมีประโยชน์กับพืช และ กระเป๋าสตางค์ของคุณ หากแต่จะต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเลือกใช้

เราเริ่มได้จากสิ่งที่ง่ายและก็เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเราก่อน อาจเริ่มจากกากกาแฟดริป หลังจากที่เราชงดื่ม หรือไม่ก็น้ำซาวข้าว เราใส่ถังเก็บไว้เพื่อนำไปรดต้นไม้ ประหยัดทั้งเงิน งามทั้งต้นไม้ :)

Wednesday 15 September 2021

จุลินทรีย์ชั้นสูง|มันคือเห็ดหรือเป็นมากกว่า...

 โลกแห่งจินตนาการของมนุษย์มันไร้ขีดจำกัดจริงๆ ศิลปินชาวอเมริกัน Philip Ross ช่างแกะสลัก นักออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้ง MycoWorks ผู้นำนวัตกรรมทางชีวภาพมาผสมผสานกับงานศิลป BIO-ART ได้เปิดโลกในอีกมุมหนึ่งที่เชื่อว่าน้อยคนนักจะนึกถึง หรือจินตนาการออกมาได้

myco-design

เขาสร้างสรรงานศิลปจาก เห็ด (Mushroom) พืชชั้นต่ำสกุล Fungi จากความช่างสังเกตุและการศึกษาค้นคว้าทำความเข้าใจวงจรชีวิตของเห็ด เขาได้พบความอัศจรรย์ของธรรมชาติของพืชตระกูลเห็ดรา กระบวนการก่อตัวเจริญเติบโตสร้างเส้นใย ขยายพันธ์และเพิ่มมวลของตัวมัน รวมทั้งความยึดหยุ่นสูง การฟอร์มตัวสร้างรูปทรงได้ไร้ขอบเขต แถมยังทานทนต่อสภาวะแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่
จากจุดเริ่มต้นฟิลลิปใช้เวลาอีกเป็นหลายปี ศึกษาต่อยอดเพิ่มความรู้ความเข้าใจเรื่องศาสตร์ของเห็ดรา Mycology ผนวกกับความอัจริยะทางด้านดีไซน์ และงานสถาปัต Architectural Design ในที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปมันก็ลงตัวออกมาเป็น "MycoWorks" นิยามที่เขาใช้เรียกผลงานการรวมศาสตร์ของ Mycology กับศิลปกรรม สร้างสรรออกมาเป็น Architectural Innovation & Design อันลงตัว

เห็ด (Mushroom) คือ ชีวอินทรีย์ (Living Micro-organism) จัดอยู่ในอาณาจักรฟันไจ (Fungi Kingdom) ซึ่งก็ที่จริงมันก็คือ เชื้อรา ชนิดหนึ่ง เป็นพืชชั้นต่ำตระกูลเดียวกัน ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ ต้องใช้จุลินทรีย์เป็นตัวช่วยย่อยสลายอินทรีย์สารที่อยู่รอบตัวมันมาเพื่อใช้เป็นอาหาร แต่อาจมีวิวัฒนาการขั้นสูงกว่า มันสามารพัฒนาเป็นดอก และออกผล มาเป็นกลุ่มก้อน มีมวลมากพอที่ให้เราเห็นด้วยตาเปล่า หลายชนิดนำมาบริโภคได้ แต่หลายชนิดก็มีพิษร้ายแรง ถ้าบริโภคเข้าไปอาจเป็นอัตรายถึงแก่ชีวิต เห็ดราที่เราคุ้นเคยกันดีก็คงเป็นเห็ดฟาง เห็ดหอม เห็ดนางฟ้า เห็ดเข็มทอง เป็นต้น

Mycology the study of fungi, a group that includes the mushrooms and yeasts. Many fungi are useful in medicine and industry. Mycological research has led to the development of such antibiotic drugs as penicillin, streptomycin, and tetracycline, as well as other drugs, including statins (cholesterol-lowering drugs). Mycology also has important applications in the dairy, wine, and baking industries and in the production of dyes and inks. Medical mycology is the study of fungus organisms that cause disease in humans.

จุดเริ่มต้น

ฟิลิปศิลปินที่มีดีกรีจบ ด้านศิลปศาสตร์ จาก San Francisco Art Institute และก็ทำงานในแวดวงศิลปได้เปิดตัวงานออกแบบที่น่าขนลุก แต่ก็สร้างชื่อให้เขาเป็นที่รู้จัก เขาสร้างสรรชิ้นงาน เลียนแบบ ซากเครื่องบิน PANAM Flight103 ที่ถูกยิงตกที่ Lokerbie, Scotland ด้วยเศษวัสดุเก่า เศษของเหลือใช้และที่ถูกทิ้ง เพื่อนำมันมาออกแสดงในนิทรรศการ

ชิ้นงานของเขาที่อาจดูธรรมดาแต่กลับไม่ธรรมดา เพราะเขาได้เติมสปอร์ของเห็ดเป๋าฮื้อลงไป พร้อมด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อจำนวนหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ได้ก็คืองานแสดงที่มีชีวิต ตลอดระยะเวลา 5 สัปดาห์ของนิทรรศการ ผู้เข้าชมต่างได้เห็น ตัวงานแสดงค่อยๆเปลี่ยนรูปลักษณ์ และรูปทรง จากการที่เห็ดขยายพันธ์ กิน หรือก็คือย่อยสลาย ซากเครื่องบินจำลอง ออกดอกเห็ด ขยายสปอร์ ขยายตัวกินพื้นที่เพิ่มไปทีละเล็กละน้อย จนชิ้นงานเดิมเปลี่ยนโฉมโดยสิ้น (เหตุการณ์ที่ปกติ มันก็ดำเนินตามครรลองของธรรมชาติอยู่แล้ว)

mycoworks

แต่งานที่ทำให้โลกรู้จักศิลปินผู้นี้ ก็คงเป็นตอนที่เขานำผลงานที่เกิดจาก Mycotectural Alpha ก้อนอิฐที่พัฒนาจากเชื้อราที่เขาค้นพบ ออกแสดงในงานศิลปะที่พิพิธสถาน Düsseldorf ในเยอรมันนี

เรือนรับรองหลังจิ๋ว Teahouse ขนาด ราว 2x2 เมตร ที่สร้างขึ้นมาเปิดให้คนเข้าชมสัมผัสทดสอบ และก็เข้าไปนั่งชมด้านในได้ ละไฮไลท์ของมัน คือเขาให้คนเข้าไปนั่งจิบชา ชาที่ชงมาจากก้อน(เห็ด)อิฐ วัสดุตัวเดียวกับที่เขากำลังนั่งอยู่ภายใต้หลังคาของมัน

อิฐของฟิลิปเกิดจากการนำสปอร์ของเห็ดราชนิดนึง ใส่เข้าไปในแม่พิมพ์ที่อัดด้วยขี้เลื่อยที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยการพาสเจอไรซ์ โดยเมื่อเห็ดราย่อยสลายขี้เลื่อยไปเป็นอาหาร สร้างพลังงานและเติบโดขยายตัวในแม่พิมพ์ที่เขาจัดเตรียมขึ้นมา จนได้โครงข่ายเนื้อเยื่อ (หรือ mycelium) ขยายตัวอัดแน่นเต็มแม่พิมพ์ ภายในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ชิ้นงานที่ได้ออกมาเป็นอิฐมวลเบา มีความแข็งแรง ทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร้อนหนาวรุนแรง เป็นฉนวนชั้นดี

mycotecture

มันเป็นนวัตกรรมทางด้านวัสดุทางเลือก ของอุตสาหกรรมก่อสร้างโลกในอนาคตเลยก็ว่าได้ ความยืดหยุ่นของประโยชน์ใช้สอย ความแข็งแรง ที่แกร่งกว่าคอนกรีต (วัดสุทนทานถึงขนาดกระสุนปืนขนาด 0.38 ไม่สามารถยิงทะลุผ่านอออกมาได้) กันน้ำได้และไม่ลามไฟ แถมยังมีความเป็นฉนวน ตัววัสดุไม่ขึ้นรา(ถ้าไม่คิดว่าตัวมันก็ทำมาจากเชื้อรา 😀) และไม่เป็นพิษต่อมนุษย์สัตว์ และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม … มันเป็นวัสดุรักษ์โลกโดยแท้ ความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์ นอกจากในวงการก่อสร้างแล้ว ยังมีโอกาสนำวัสดุตัวนี้ไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลากหลาย

art งานศิลปร่วมสมัย .. ล้ำสมัย

ในที่สุด เขาก็พัฒนาการใช้งานให้เข้าใกล้ตัวมากขึ้น mycelium ได้ถูกพัฒนาต่อยอดไป ทักทอเป็นแผ่นหนังให้ความรู้สึกและผิวสัมผัสเหมือนหนังวัวชั้นดี รอยย่นของผิวหนังที่แตกต่างกันไป ไม่เท่ากัน ไม่สม่ำเสมอ เหมือนธรรมชาติของหนังสัตว์แท้ไม่ผิดเพี้ยน

myco-furniture *by MYCOWORKS.COM

และจุดสูงสุดก็ที่ล่าสุดทาง Hermès ให้ความสนใจนำไปทำเป็นกระเป๋า Victoria Bag ใช้วัสดุใหม่ในชื่อว่า Sylvania เป็นการผสมผสานวัสดุธรรมชาติกับไบโอ-วิศวกรรมโดยนำแผ่นหนัง Mycelium เป็นส่วนประกอบหลัก ได้กระเป๋าใบสวยงามสง่า สมกับการเป็นวัสดุ BIO-INNOVATION อย่างแท้จริง

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
AltaOnline.com
Vice.com
Britanica.com
MYCOWORKS

image

ติดตาม GREENTIPS ทาง 〜
𝕗𝕒𝕔𝕖𝕓𝕠𝕠𝕜 : BIO100
𝕚𝕘 : instagram.com/bio100plus
🆔 ʟɪɴᴇ : @bio100
🅱logger : bio100plus
🌐 : bio100percent 



Monday 13 September 2021

พลังงาน(ลม)แห่งอนาคต

คงไม่มีใครไม่รุ้จัก กังหันลม หรือ วินด์มิลล์ (WINDMILL) ในประเทศไทย บ้านเรา สมัยก่อนเราก็คงจะพบเห็นกันได้บ่อยตามหัวไร่ปลายนา ที่ชาวบ้านสร้างเอาไว้ใช้เพื่อวิดน้ำเข้าท้องนา ไม่ต้องพึ่งพลังงานจากไฟฟ้า ซึ่งเมื่อก่อน หลายพื้นที่ทั่วไทย ก็ไม่มีไฟฟ้าใช้


เดี๋ยวนี้อาจหายไปแล้ว เพราะส่วนใหญ่ก็มีไฟฟ้าเข้าถึงกันแทบจะทุกครัวเรือน และแม้ที่ห่างไกลและยังไม่มีไฟเข้าไปถึง ต่างก็หันมาใช้พลังแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทางเลือก ซึ่งนับวันจะมีต้นทุนถูกลง และติดตั้งก็ง่าย

ส่วนต่างประเทศ ที่จริงก็ยังมีแพร่หลายในประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะที่นี่ เป็นสัญลักษณ์คู่ประเทศเลย ประเทศ Holland หรือเปลี่ยนชื่อมาเป็น Netherlands ถึงวันนี้ ใครเคยไปเที่ยวหรือมีเพื่อนไปมา บ่อยครั้งก็มักจะซื้อกังหันลมอันจิ๋วติดมือมาเป็นของฝาก

ปัจจุบันมี การสร้างฟาร์มพลังงานลมเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นอกชายฝั่งกว่า 162 แห่ง และยังมีที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 26 แห่ง รวมกันสามารถผลิตพลังงานได้มากถึง 5,206 MW เฉพาะในปี 2020

ตัวอย่างนึงของนวัตกรรม โครงการหนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะมันเป็นต้นแบบที่มีการสร้าง Offshore Wind Turbine ขนาดใหญ่ โดยไม่ได้ฝังเสาลงไปที่ชั้นหินใต้ทะเล ตัวกังหันลมที่สูงกว่า 175 เมตรจากผิวน้ำ (และมีเสาหรือทุ่นจมอยู่ใต้น้ำ 78 เมตร ถูกยึดให้ตั้งฉากและอยู่กับที่โดยเคเบิลใต้น้ำหลายเส้น ที่ไปลากไปยึดกับฝั่ง หรือไม่ก็ลากลึกไปยึดกับพื้นหินใต้ทะเลที่ลึกลงไปมากได้

โครงการกังหันลมต้นแบบนี้ เหมาะที่จะใช้ห่างชายฝั่งไกลออกไปมากๆ ที่ซึ่งลมแรงมากกว่าพื้นที่ทะเลไกล้ชายฝั่ง ทำให้มีโอกาสจะเก็บเกี่ยวพลังงานได้มากกว่าแบบเก่าหลายเท่าตัว

ปกติกังหันลม Offshore Wind Turbine ทั่วไป จะต้องติดตั้งไม่ห่างออกจากชายฝั่งเกินกว่า 32 km เพื่อให้ทะเลไม่ลึกเกินไป วิศวกรสามารถฝังตอม่อใต้ทะเล เพื่อเป็นฐานตั้งเสากังหันได้

จากตัวอย่างที่ Hywind เพียงที่เดียว ทั้งระบบมีกังหันลมแบบใหม่เพียง 5 ชุด และปัจจุบันด้วยประสิทธิภาพเพียง 57.1% สามารถให้พลังงานแก่บ้านเรือนกว่า 36,000 หลังในประเทศอังกฤษ

กำเนิดของกังหันลม

มีข้อมูลสนับสนุนว่า นักคณิตและวิศวกรชาวกรีกโบราณ มีการพูดถึงต้นแบบของกังหันลมในช่วงต้นศตวรรษที่ 1 ซึ่งตอนนั้นมันดูยังไม่คล้ายกังหันลมปัจจุบัน และการใช้ประโยชน์หลักของมันก็ตรงไปตรงมา เขาพัฒนามันขึ้นมาเพื่อให้คันชักที่ถูกทำให้โยกขึ้นลง ไปดันกระบอกสูบเพื่อปั๊มลมจากกระบอกออก ไปเป่าเครื่องดนตรี Organ เพื่อให้บรรเลงเป็นเสียงเพลง

ผ่านไปอีกหลายร้อยปี จนย่างเข้าที่ศตวรรษที่ 9th/10th มีการพัฒนารูปแบบ และเริ่มนำกังหันลมไปใช้ประโยชน์จริงจัง จนในที่สุดมันก็และแปรสภาพมา อยู่ในรูปลักษณ์ปัจจุบันที่เราคุ้นเป็นหน้ากัน

รุ่นแรกๆ ตัวใบพัดส่วนใหญ่ถูกสร้างมาจาก ใบหญ้านำมาสานเป็นผืน หรือใช้ผ้าใบเรือ มาเย็บติดกับโครงไม้ หรือโครงเหล็ก ส่วนตัวกำเนิดพลังงานก็มาจากการนำระบบสายพานและมูลี่มาใช้เชื่อมโยงการหมุนของแกนของใบพัด กับการหมุนเครืองกำเนิดพลังงาน

เบื้องต้นก็เพื่อต่อไปใช้วิดน้ำ ฉุดน้ำเข้าพื้นที่ไร่นา เพื่อการชลประทาน ใช้เพื่อทุ่นแรงทำ โม่แป้งหรือเมล็ดพันธ์ซีเรียล ในการแปรรูปเกษตรเบื้องต้น และในที่สุด มันก็เป้นที่นิยม และก็มีการสร้างขึ้นมากมาย เริ่มจากทางแถบตะวันออกกลาง เอเซียกลาง และขยายการใช้งานไปที่ยุโรป ในที่สุด ก็มีการนำไปแนะนำ และก็สร้างเพื่อใช้งานแพร่หลายในจีน อินเดีย และก็เอเซียในที่สุด


Horizontal vs. Verticle Windmill

กังหันลมแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทหลัก โดยดูที่แกนหมุน (ตัวกำเนิดพลังงาน) ที่ใช้เพื่อขับเคลื่อนตัวกำเนิดพลังงาน โดยถ้าแกนหมุนมีการวางขนานราบไปกับพื้น แนวเดียวกับแกนของใบพัด มันก็คือแบบ Horizontal เป้นแบบที่กำเนิดก่อน และก็เป็นแบบที่นิยมและก็ใช้แพร่หลาย ตังแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ทั้งแบบเก่าหรือรุ่นใหม่ทันสมัย ข้อดีของมัน คือว่ามันให้พลังงานมากกว่า มีประสิทธิภาพสูง สร้างพลังงานจากลมได้ในอัตราที่ดีกว่า แต่รูปแบบของมัน ทำให้ต้องมีขนาดที่ใหญ่พอสมควร ทั้งขนาดโครงสร้าง ความสูงจากพื้นดิน ใบพัดและก็เ สา นอกจากนั้น การติดตั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราต้องนำมันไปติดตั้งในสถานที่มีลมแรงเฉลี่ยตลอดทั้งปี และสม่ำเสมอ ถึงจะให้พลังงานคุ้มค่ากับการลงทุน ช้อเสียสำคัญอีกอย่าง คือการบำรุงรักษาก็ยาก เพราะส่วนใหญ่อยู่สูง การทำงานลำบาก และมีความเสี่ยง

Verticle กังหันลมแบบนี้ จะมีแกนหมุนวางตั้งฉาก (or perpendicular 90 degree) ไปกับพื้น หลักๆ ก็อยู่ในใจกลางของเสาที่ตั้ง ข้อดีของกังหันแบบนี้ คือมันไม่ต้องมีขนาดใหญ่ หรือสูงมากนัก มีน้ำหนักน้อย ต้องการพื้นที่ในการติดตั้งและปฎิบัติงาน (operational footprint) ต้ำ การติดตั้งก็ง่าย เสียงก็ไม่ดัง เหมาะกับการนำไปใช้ในบ้านเรือน หรือแหล่งชุมชน แม้กระทั่งบนหลังคาอาคารทั่วไป ที่สำคัญ มันสามารถหมุน (กำเนิดพลังงานโดยลม) ได้ง่าย แม้ด้วยแรงลมเบาเฉื่อย ตัวใบพัดที่ถูกออกแบบให้หมุนได้ด้วย momentum ที่ต่ำ ก็สามารถทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพพอประมาณ ส่วนการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาก็ง่าย เพราะมันมีขนาดไม่ใหญ่มาก เข้าถึงง่าย และมันก็ไม่เสียหายง่าย เพราะไม่ได้มีใบพัดขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก คอยสร้างแรงเหวี่ยง สร้างแรงเครียดต่อระบบ และโครงสร้าง เหมือนกับแบบ Horizontall ที่มีใบหนักกว่ามาก

WIND CATCHER - ต่อยอดเทคโนโลยี่ Horizontal Windmill ทั่วไปแต่คูณ 100+ โดยมีการนำกังหันลมขนาดเล็กกว่า 125 ชุด มาวางเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ สูงกว่าตึก 100 ชั้น ( 350 เมตร ) สร้างเป็นระบบ wind turbine ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก มีประเมินกันว่า มันสามารถทำพลังงานได้มากกว่า กังหันลมที่ไหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ (ที่มีกำลังผลิตพลังงานถึง 80 GWh ต่อปี) ถึง 5 เท่า เคล็ดลับของ WIND CATCHER อยู่ตรงที่เขาใช้ประโยชน์จากการที่ระบบใช้ใบพัดกังหันขนาดเล็ก ขนาดเพียง 20 เมตร (สามารถหมุนรอบจัดได้มากกว่าใบพัดยักษ์ ที่ปกติมีขนาดถึง 48 เมตร) ทำให้สร้างพลังงานต่อชุดได้มากกว่าในเชิงประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงเข้ากันเป้นโครงข่ายขนาดใหญ่ ทำให้พลังงานโดยรวมที่เกิดจากทั้งระบบสูงมากยิ่งขึ้น

และจุดเด่นในขนาดเล็ก และแยกออกเป็นชุดย่อยๆนี่เอง ทำให้บำรุงรักษาง่าย ซ่อมแ๙มก็ง่าย ถ้าระบบใดระบบหนึ่งจาก 126 ชุด มีปัญหา ก็สามารถเข้าไปซ่อมแซมได้ทีละชุด ทีละระบบ โดยไม่กระทบถึงระบบใหญ่ ที่ยังคงสามารถทำงานสร้างและจ่ายพล้งงานตามปกติ แต่ในขณะที่ระบบ Giant Wind Turbine แบบเดิม เราต้องหยุดการทำงานทั้งระบบเท่านั้น เกิด system downtime ก่อนที่จะเข้าไปซ่อมแก้ไขได้

ส่วนอายุการใช้งาน ทางผู้ผลิต WIND CATCHER แจ้งว่ามันออกแบบมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 50 years และพอหมดอายุ ตัวใบพัดที่เป็นอลูมิเนียม สามารถนำไปหลอมละลาย รีไซเคิลเป็น aluminium ingot เพื่อมาใช้ได้ใหม่เกือบ 100% … ต่างกับใบกังหันยักษ์แบบเดิม ( ใบทำจากไฟเบอร์กลาส) ย่อยสลายไม่ได้ ต้องถูกนำไปทิ้ง สุมกองเป็น Landfills ขนาดมหึมา รกผืนโลก สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมโดยที่ยังหาทางออกไม่ได้ !

จากการประเมินเบื้องต้น Wind Catching System ระบบเดียวสามารถให้พลังงานเพียงพอกับ 100,000 ครัวเรือนทีเดียว

This image has an empty alt attribute; its file name is p-1-90672135-windcatcher-1024x576.jpeg

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Wikipedia
Offshorewind.Biz
BBC News
สารานุกรมไทย
FastCompany
WINDCATCHING

image

ติดตาม GREENTIPS ทาง 〜
𝕗𝕒𝕔𝕖𝕓𝕠𝕠𝕜 : BIO100
𝕚𝕘 : instagram.com/bio100plus
🆔 ʟɪɴᴇ : @bio100
🅱logger : bio100plus
🌐 : bio100percent

Wednesday 8 September 2021

ขยะพลาสติกล้น(เพราะโควิท)จริงหรือ?

 

การระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการอุปโภค บริโภคของผู้คนไปอย่างมากมาย หนึ่งในธุรกิจโดดเด่นที่ขยายตัวท่ามกลางวิกฤตการณ์นี้ คือ ธุรกิจส่งอาหาร หรือ food delivery

จากการศึกษาของ Statista มูลค่าทางตลาดของธุรกิจส่งอาหารในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 34.7 ล้านบาทไทยในปี 2019 และกำลังเพิ่มขึ้นๆ จนอาจแตะ 46 ล้านบาทไทยในปี 2022

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักในปี 2020 อาจมีสูงสุดถึง 66-68 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นขยายตัวที่สูงมาก อาหารถูกจัดส่งถึงหน้าบ้านพร้อมบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลากชิ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ด้วยปัจจัยด้านสุขอนามัยและความสะดวกสบาย หากนับดี ๆ พลาสติกที่มากับอาหารในแต่ละครั้งอาจมากถึง 5–7 ชิ้น

คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Green Peace ประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับองก์กร Heinrich-Böll-Stiftung Southeast Asia ว่า กรุงเทพมหานครจ้างคนเก็บขยะเพื่อเก็บขยะจากบริเวณขอบถนนของเมือง คนเก็บขยะจะนำขยะที่บรรทุกในแต่ละวันไปขายให้ผู้จำหน่ายขยะ หรือ ที่มักจะรู้จักกันในชื่อ ซาเล้ง เพื่อคัดแยกขยะเพื่อหาของที่ขายได้ เช่น ขวดพลาสติก แก้ว และกระป๋องอลูมิเนียม ขยะที่เหลือจะเข้าไปที่ฝังกลบ และเนื่องจากหลุมฝังกลบทั้งหมดในกรุงเทพฯ เต็มแล้ว จึงส่งไปฝังที่ต่างจังหวัด

การจัดการขยะแบบไม่มีระบบจากส่วนกลางทำให้ขยะจากครัวเรือนในกรุง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่เป็นที่ต้องการ หรือ ขายไม่ได้ ถูกนำไปฝังกลบเป็นภูเขาขยะหรือไหลลงสู่ทะเล เป็นแหล่งมลพิษ แทนที่จะถูกนำไป recycle อย่างถูกต้อง

ปัจจุบันมีหลายองค์กรและหน่วยงานพยายามให้ความรู้ รวมถึงรับบริจาคขยะเพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ หรือ รีไซเคิลเพื่อเปลี่ยนเป็นเชื่อเพลิงอย่างถูกวิธี ลดมลพิษที่จะถูกปล่อยออกจากสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันมีหลายองค์กรและหน่วยงานพยายามให้ความรู้ รวมถึงรับบริจาคขยะเพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ หรือ รีไซเคิลเพื่อเปลี่ยนเป็นเชื่อเพลิงอย่างถูกวิธี ลดมลพิษที่จะถูกปล่อยออกจากสิ่งแวดล้อม

  1. ถาด กล่องใส่อาหาร ฝากล่องอาหารพลาสติก แก้วกาแฟ (PET/PP) สามารถนำส่งได้ที่ โครงการ @cirplas.official - บจก. เซอร์พลาส เทค 597/102-103 ตรอกวัดจันทร์ใน แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กทม. 10120 หรือ โครงการ @greenroad.enterprise - กรีนโรด 148/3 หมู่ที่ 19 ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน 51000
  2. ถุงหิ้วพลาสติก ฟิล์มยืดห่ออาหาร ถุงใส่ขนมปัง หลอดดูด (PE) สามารถนำส่งได้ที่ โครงการ @wontogether - บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด(มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210, โครงการ @cirplas.official - บจก. เซอร์พลาส เทค 597/102-103 ตรอกวัดจันทร์ใน แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กทม. 10120 หรือ โครงการ @greenroad.enterprise - กรีนโรด 148/3 หมู่ที่ 19 ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน 51000
  3. ช้อน ส้อมพลาสติก ฝาแก้วกาแฟ (PS) สามารถนำส่งได้ที่ โครงการ @cirplas.official - บจก. เซอร์พลาส เทค 597/102-103 ตรอกวัดจันทร์ใน แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กทม. 10120 หรือ โครงการ @greenroad.enterprise - กรีนโรด 148/3 หมู่ที่ 19 ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน 51000
  4. ซองซอส (พลาสติกวิบวับ พวกถุงขนมกรุบกรอบ) สามารถนำส่งได้ที่ โครงการ @greenroad.enterprise - กรีนโรด 148/3 หมู่ที่ 19 ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน 51000 หรือ โครงการ @n15technology - 7-11 ระบุสาขารับปลายทาง 13127 (เจริญสินธานีพานทอง) หรือ สถานที่จัดส่งที่โรงงาน บจก. N15 เทคโนโลยี 700/754 ม.1 ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี 20160
  5. ขวดพลาสติกใส (PET) สามารถนำส่งได้ที่ โครงการ แยกขวด ช่วยหมอ เพื่อส่งต่อไปเป็นเส้นใย ถักทอ เคลือบสะท้อนน้ำ และตัดเป็นชุด PPE Level 2 แบบซักสะอาดใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง (Reusable PPE) - บริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด (อาคารบริหารจัดการขยะ) 999 หมู่ 1 ต.หนองปรือ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 10540

จะเห็นว่าหลายศูนย์รับบริจาคขยะหลายประเภท โดยที่เราสามารถรวบรวบรวมให้ได้ปริมาณพอสมควร แล้วค่อยนำส่งได้ ผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้ารายละเอียดการรับบริจาคเพิ่มเติมใน Facebook ตามข้อมูลข้างต้น ที่สำคัญ อย่าลืมทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ก่อนนำส่ง ถ้าเราช่วยกัน ปริมาณพลาสติกที่ถูกฝังกลบจะลดลงได้มากและทันที เริ่มต้นไม่ยาก โดยอาจเริ่มจากผลิตภัณฑ์พลาสติกที่บรรจุอาหารที่เราบริโภคสำหรับมื้อต่อไปที่เราสั่งมาทานที่บ้านได้เลย

บรรจุภัณฑ์พลาสติก ปัญหาที่เราทุกคนช่วยได้ 

image

ติดตาม GREENTIPS ทาง 〜
𝕗𝕒𝕔𝕖𝕓𝕠𝕠𝕜 : BIO100
𝕚𝕘 : instagram.com/bio100plus
🆔 ʟɪɴᴇ : @bio100
🅱logger : bio100plus
🌐 : bio100percent

โพสต์เด่น

10 ไม้ยืนต้นออกดอกสวย

มาสู้โลกร้อนกันด้วยการ ปลูกต้นไม้ในบ้านกัน นอกจากลดการใช้พลังงานฟอสซิล หันมาใช้พลังงานสะอาด ก็คือช่วยการปลูกต้นไม้ 🌳 🌿 🌱 เพิ่มพื้นท...

โพสต์น่าสนใจ